การพัฒนาคนเพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0

Last updated: 7 ก.พ. 2563  | 

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 - 13:54 น.


“Thailand 4.0” เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาลไทยที่ใช้ในการผลักดันเพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้หรือฐานะ และแก้ปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ด้วยรูปแบบการ ‘ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม’ เนื่องจากที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยยังติดอยู่กับโมเดลทำมากได้น้อย จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลมาเป็นทำน้อยได้มาก ซึ่งการลงมือทำน้อยๆ แต่ได้ผลตอบแทนมหาศาลนั้น ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแนวคิดจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยอุตสาหกรรมเป็นการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้านวัตกรรม รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในภาคการเงิน การบริหารจัดการและการบริการ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน การค้า อุตสาหกรรม การเกษตร ธนาคาร ประชาชน ชุมชน จังหวัด สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยต่างๆ ควบคู่ไปกับการส่งเสริม SMEs และ Startup เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน สู่เป้าหมาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

จากแนวคิดข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่า ปัจจัยหลักที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่โมเดล Thailand 4.0 ได้นั้น ประกอบไปด้วยหลากหลายปัจจัย เช่น การปรับตัวอย่างทันทีและต่อเนื่องของทุกภาคส่วนโดยต้องมีการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม การกำหนดและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต การส่งเสริมและสร้างความร่วมมือระหว่างเอกชนกับสถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยเพื่อให้เกิดการนำผลการศึกษาวิจัยออกมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น แต่อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพื่อความสำเร็จในการขับเคลื่อนก็คือ การพัฒนาคนไทย 4.0 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ต้องได้รับการทุ่มเทอย่างต่อเนื่องผ่านการวางแผนให้ดีที่สุด

เมื่อมองเฉพาะปัจจัยทางด้านการพัฒนาคนสำหรับ Thailand 4.0 แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคการศึกษาควรต้องเข้ามามีบทบาทและหน้าที่หลักในระบบการพัฒนา และเมื่อมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง การศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็มักจะถูกนึกถึงเป็นลำดับแรก ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น แต่ต้องเริ่มให้ความสำคัญกันตั้งแต่ระดับปฐมวัย ไล่มาจนถึงระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท-เอก) รวมไปถึงการศึกษาสายอาชีพและระบบการศึกษานอกสถานศึกษาแบบต่อเนื่อง (Life-Long Learning) โดยต้องมีแผนการพัฒนาคนที่ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกันในทุกระดับและสาขา เพื่อการไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ต้องมีการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อไปทำหน้าที่ต่างๆ ที่สอดรับกันและต่อยอดซึ่งกันและกัน ต้องให้คุณค่ากับทุกระดับการศึกษาและอาชีพ ซึ่งการปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่โมเดล Thailand 4.0 นั้น จะเห็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคนไทยเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 2 ประการ คือ

1. งานและอาชีพจำนวนหนึ่งจะหายไปเนื่องจากถูกทดแทนได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีและ/หรือเครื่องจักรกลระบบอัจฉริยะ (Intelligence Manufacturing)

2. คนไทยที่ไม่มีทักษะเพียงพอสำหรับการทำงานด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม จะสูญเสียงานให้กับคนต่างชาติที่มีความสามารถนั้น

ปรากฏการณ์ทั้งสองนี้สามารถส่งผลให้เกิดปัญหาคนไทยว่างงาน ขาดรายได้ ซึ่งจะกลับกลายเป็นปัญหาฉุดรั้งการก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางของประเทศไทย รวมไปถึงปัญหาทางสังคมอีกมากมาย หากประเทศไทยไม่มีแผนการพัฒนาคนไทย 4.0 ที่ดีพอ แล้วแผนการพัฒนาคนไทย 4.0 ที่ดีจะต้องเป็นอย่างไรกัน ก่อนที่จะได้คำตอบของคำถามนี้ จำเป็นต้องวิเคราะห์หาคุณลักษณะพึงประสงค์ของคนไทย 4.0 เสียก่อน

คุณลักษณะพึงประสงค์อันดับแรกที่คนไทยต้องมี คือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) คุณลักษณะนี้ต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่เกิดและต่อเนื่องจนกว่าจะหมดลมหายใจ นอกจากนี้ คนไทยจะต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและดำรงอยู่ของคุณลักษณะนี้ ตั้งแต่ทัศนคติของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ภาคการศึกษาทุกระดับ ตลอดจนสังคม คุณลักษณะนี้สำคัญมากเพราะเป็นสิ่งที่เครื่องจักร เทคโนโลยี หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ (ณ ปัจจุบัน) ยังทดแทนไม่ได้

คุณลักษณะต่อมาที่คนไทยต้องมี คือ มีทักษะในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต่อไปนี้คนไทยจะต้องอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว อันเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไม่มีวันหยุด การที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในรูปแบบต่างๆ และการเกิดขึ้นของนวัตกรรมตลอดเวลา จะทำให้ลักษณะการทำงานของคนไทยนั้นไม่สามารถคงรูปแบบเดิมไปได้ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน และต้องเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่บางครั้งอาจเป็นแบบไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น คุณลักษณะนี้จึงจำเป็นและต้องได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงวันสิ้นสุดการทำงาน ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระยะเวลาอีกไม่นานจากนี้ บ่งบอกถึงสภาวการณ์ที่ผู้สูงอายุจำนวนมากที่เกษียณอายุงานแล้วแต่ยังจำเป็นต้องมีรายได้อย่างเพียงพอในการเลี้ยงตน ซึ่งกรณีนี้จะต้องมีการเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยการทำงานในสภาวะที่ร่างกายไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น ทักษะนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก

คุณลักษณะที่สำคัญสำหรับคนไทย 4.0 อันดับต่อมาคือ การเป็นนักบูรณาการ (Integrator) การที่คนไทยมีความเป็นนักบูรณาการ จะสามารถผสมผสานสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นสิ่งที่ดีกว่า จะรู้จักการปรับตัวโดยการเชื่อมโยงผสมผสานจุดแข็งต่างๆเพื่อการแข่งขัน ทักษะนี้จะช่วยให้คนไทยผลิตนวัตกรรมได้ไม่รู้จบสิ้นเมื่อบวกกับคุณลักษณะอีกสองประการที่กล่าวแล้วข้างต้น เช่นเดียวกัน คุณลักษณะนี้ต้องอาศัยการปลูกฝังและพัฒนาอย่างเป็นระบบตั้งแต่อายุน้อยๆ

คุณลักษณะสุดท้ายที่สำคัญสำหรับคนไทย 4.0 คือ ทักษะการวิเคราะห์และตัดสินใจ เมื่อประเทศไทยขับเคลื่อนเข้าสู่ การเป็น Thailand 4.0 แล้วนั้น คนไทยจะต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่จะมีมากมายและเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย จากการที่ประเทศได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการเป็นแบบ Digitalization โดยข้อมูลต่างๆ มากมายและหลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนที่คนไทยเข้าถึงได้นี้ อาจเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ได้ การรู้จักใช้ประโยชน์จากข้อมูล จะช่วยให้เกิดการพัฒนาและก้าวหน้าในทุกๆ ด้านได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากคนไทยไม่มีทักษะการวิเคราะห์ที่ดี จะทำให้การตัดสินใจดำเนินการใดๆ เกิดความผิดพลาดล้มเหลว ไม่สามารถแข่งขันได้ทางธุรกิจ ไม่สามารถตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับงานของตน หรืออาจโดนมิจฉาชีพใช้ข้อมูลเท็จหลอกลวง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอาจส่งผลกระทบวงกว้างต่อสังคมได้ คุณลักษณะข้อนี้ของคนไทยก็เช่นกัน ต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่อายุยังน้อย รวมทั้งต้องพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่รู้จักวิเคราะห์ข้อเท็จจริง เป็นสังคมที่อยู่บนเหตุและผล

จากคุณลักษณะพึงประสงค์ที่กล่าวมาทั้งหมดสำหรับคนไทย 4.0 นั้น จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีแผนการพัฒนาคนอย่างเป็นระบบ และมีการบูรณาการจากหลายภาคส่วนเพื่อเป้าหมายเดียวกัน โดยต้องเป็นการดำเนินการที่สอดรับกัน และต้องเป็นการพัฒนาคนตั้งแต่เกิดจนตาย คนไทยต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยโดยการต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนี้แล้ว ประเทศไทยจึงจะสามารถก้าวพ้นกับดักต่างๆ ที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ และสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในการจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น สิ่งที่บ่งบอกหรือชี้วัดอย่างแท้จริงก็คือคุณภาพและคุณลักษณะของคนในประเทศนั่นเอง หาใช่วัตถุหรือสิ่งก่อสร้างใดไม่ เพราะคนคือผู้ที่สร้างทุกสิ่งอย่างขึ้นมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณพิไลย นรสิงห์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ


อ้างอิง: วารสาร Ignite Thailand เล่ม 1