ใครเครียดยกมือขึ้น! นักวิจัยเผย ความเครียดจะส่งผลดีหรือร้ายคุณอยู่กับเรามองมัน

Last updated: 21 เม.ย 2563  | 

วันที่ 21 เมษายน 2563 - 13:26 น.


เราอาจจะต้องยอมรับกันก่อนว่า ‘ความเครียด’ นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นวัยไหน อายุเท่าไหร่ อาชีพอะไร เราต่างก็มีความเครียดในแบบฉบับของตัวเอง จะเครียดมากเครียดน้อย เครียดนานหรือเครียดสั้น ประเด็นก็จะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

จากรายงานประจำปีของ Gallup ในประเด็นของ Global Emotions ทำให้เราพอทราบได้ว่า คนกว่า 146 ประเทศทั่วโลกมีความเครียดมากขึ้นกว่าแต่ก่อนราว 40 เปอร์เซ็นต์ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ไม่ใช่แค่วัยทำงาน แต่ความเครียดในเด็กหรือเยาวชนก็มีตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นอีกด้วย และอย่างที่เราทราบกันดี ‘ความเครียด' นั้นส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของเราอย่างปฏิเสธไม่ได้

สรุปง่าย ๆ ก็คือ ความเครียดกำลังลุกลาม ทำลายสุขภาพของคนทั่วโลกมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

แต่งานวิจัยใหม่อาจจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยการแก้ปัญหาความเครียดที่ดีสุดไม่ใช่ไม่เครียด แต่คือการปรับมุมมองที่เรามีต่อความเครียดต่างหาก

มหาวิทยาลัย Wisconsin ได้ทำการศึกษาชาวอเมริกันกว่า 30,000 คน โดยนักวิจัยจะถามพวกเขาว่า พวกเขาเครียดแค่ไหน? และ พวกเขาเชื่อหรือไม่ว่าความเครียดนั้นอันตรายต่อสุขภาพ?

ผลปรากฎว่า คนที่มีความเครียดมากและมองว่าความเครียดนั้นอันตรายต่อสุขภาพ มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าคนที่มองว่าความเครียดเป็นประโยชน์ถึง 43 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นที่น่าสนใจไม่ใช่แค่นั้น เพราะถึงแม้จะมีความเครียดมาก แต่หากคุณมองมันในแง่ดี มองว่ามันเป็นประโยชน์ อัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก็จะต่ำกว่าคนที่มีความเครียดน้อยอีกด้วย

ในขณะที่อีกการศึกษาหนึ่งก็ระบุว่า ในช่วงสอบปลายภาค นักเรียนที่มองความเครียดในแง่ร้าย มักจะมีอาการทางร่างกายมากขึ้น อาทิ อาการปวดศีรษะ ความตึง และการเมื่อยล้า มากกว่าคนที่มองว่าความเครียดเป็นเรื่องที่ดี

ทั้งสองการศึกษานี้ค่อนข้างให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันว่า ความเครียดอาจจะไม่ใช่สิ่งเลวร้ายขนาดนั้น แต่มันขึ้นอยู่กับความเชื่อหรือมุมมองที่คุณมีต่อความเครียดมากกว่าที่มันจะทำร้ายคุณ ไม่ใช่ด้วยความเครียดจากตัวมันเอง

นักจิตวิทยาด้านสุขภาพที่ศึกษาเรื่องความเครียดอย่าง Kelly McGonigal ได้เล่าเรื่องราวไว้ใน Ted Global ปี 2013 ว่า ฮอร์โมนออกซิโทซินหรือฮอร์โมนแห่งความใกล้ชิด มักจะหลั่งออกมาเวลาที่เราได้คลอเคลียใครสักคน เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เราอยากมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง (เพราะร่างกายรู้ว่าเราเป็นสัตว์สังคม) อยากเข้าหาผู้คน อยากชิดใกล้ มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ มันทำให้คุณเป็นคนดีต่อผู้อื่น

แต่อีกนัยหนึ่ง ออกซิโทซินก็จะถูกผลิตออกมาเพื่อตอบสนองต่อความเครียดเช่นกัน เมื่อคุณเครียด ออกซิโทซินจะทำให้คุณวิ่งตามหากำลังใจ มันจะทำให้คุณอยากระบายเรื่องเครียดนั้นออกไป ฮอร์โมนนี้จะพาให้คุณไปหาพื้นที่อบอุ่นทางใจ มันยังป้องกันระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นเหมือนยาแก้อักเสบจากธรรมชาตินั่นเอง

เห็นไหมล่ะ ว่าร่างกายเราก็มีวิธีการจัดการความเครียดในแบบฉบับของมันเอง ความเครียดอาจจะทำให้เราพบปะผู้คนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอีกด้วย!

เพราะฉะนั้น สำหรับความเครียดแล้ว การทำความเข้าใจมันและอยู่กับมันเหมือนเพื่อน อาจจะเป็นหนทางที่ดีกว่าการวิ่งหนีมันก็เป็นได้ Kelly McGonigal กล่าวในช่วงท้าย แล้วคุณล่ะ เครียดมากน้อยแค่ไหน สำหรับคุณแล้ว ความเครียดเป็นมิตรคู่ใจหรือเป็นศัตรูร้ายกันแน่!




Source:

BrandThink

https://www.facebook.com/photo/?fbid=2669196473405888&set=a.1767934240198787