รีบเคลียร์ให้เสร็จ จะได้รีบจบ ‘Precrastination’ เมื่อการทำงานเสร็จไวส่งผลลบกว่าที่คิด

Last updated: 22 มิ.ย. 2563  | 

วันที่ 22 มิถุนายน 2563 - 14:00 น.


‘แป๊บนึง’ ‘เอาไว้ก่อน’ ‘เดี๋ยวค่อยทำก็ได้’
การผลัดวันประกันพรุ่ง (procrastination) เป็นเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี มันคือการหยิบยืมความสบายในอนาคตมาใช้ ทำให้ปัจจุบันเรารู้สึกสบายกายสบายใจ เพราะเราได้ผลักภาระที่มีอยู่ออกไป ไว้อีกซัก 5-10 นาทีค่อยทำ หรืออีก 6 ชั่วโมงดี หรืออีก 2 วันก็ได้มั้ง หรือเผลอๆ ก็อาจจะไม่ทำเลยก็ได้
 
แต่ในขณะที่หลายคนกำลังเอ้อระเหยลอยชาย และปล่อยให้ความวุ่นวายเป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ อีกด้านหนึ่งก็ยังมีผู้คนที่กำลังง่วนอยู่กับกองงานตรงหน้าอย่างเคร่งเครียด บ่นยุ่งๆ ไม่มีเวลา นั่นเพราะพวกเขากำลังพยายาม ‘เคลียร์’ ทุกอย่างให้เสร็จไวๆ อยู่นั่นเอง

precrastination คือการเร่งทำงานให้เสร็จเร็วเกินไป หรือทำให้เสร็จทันทีเท่าที่จะทำได้ นั่นอาจหมายถึงการลงแรงหรือใช้ความพยายามมากขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งตรงข้ามกับการผลัดวันประกันพรุ่งโดยสิ้นเชิง เช่น เข้าไปเช็คกล่องอีเมลทุกเช้า แล้วตอบทุกฉบับที่มีอยู่ แม้ว่าบางฉบับจะไม่สำคัญเลยก็ตาม แต่จริงๆ แล้ว เราก็แค่อยากทำให้มันเสร็จๆ ไป หรือให้มันหายๆ ไปจากกล่องจดหมายขาเข้าก็เท่านั้น

จากผลวิจัยก็พบว่า สิ่งที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มักจะทำงานที่ไม่สำคัญก่อน มาจากปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘The Mere Urgency Effect’ ซึ่งเป็น ‘ภาพลวงตา’ ที่ทำให้เราเลือกทำงานตามเดดไลน์ มากกว่างานที่ได้ผลตอบแทนในระยะยาว และก็เป็นแนวคิดเดียวกับเวลาเรายืนอยู่ใต้ต้นแอปเปิล และเลือกหยิบผลที่อยู่ต่ำที่สุด หรือเลือกทำในสิ่งที่ใกล้มือและพอจะเป็นไปได้ที่สุดก่อน แต่นั่นเป็นวิธีที่ดีหรือเปล่านะ? มีการทดลองเล็กๆ น้อยๆ มาอธิบายผลลัพธ์ของปรากฏการณ์นี้ให้ดู

สมมติว่ามีถังน้ำสองใบวางอยู่ตรงหน้า ใบหนึ่งอยู่ใกล้ตัวเรา และอีกใบอยู่ห่างออกไป โจทย์ก็คือให้หยิบถังสองถังนั้นกลับมา ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะหยิบถังใบที่ใกล้ก่อน แล้วเดินไปหยิบใบที่ไกลอีกที แล้วก็ถือถังสองถังนั้นกลับมา แต่ระหว่างที่เดินไปหยิบถังที่สอง เราใช้แรงยกถังที่หนึ่งอยู่ใช่ไหมล่ะ ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่ควรทำเพื่อลดการใช้แรงนั่นก็คือ เดินไปหยิบถังที่ไกลก่อน แล้วกลับมาเอาถังที่ใกล้ทีหลัง วิธีนี้ จะช่วยลดภาระระหว่างเดินได้เยอะ

เพราะฉะนั้น แม้การเร่งทำงานให้เสร็จ จะบ่งบอกถึงความมุ่งมั่น ความขยันในตัวบุคคล ทำให้มีเวลาว่างเหลือเฟือเพื่อไปพักผ่อน ทำกิจกรรมอย่างอื่น หรือเกิดความรู้สึกพึงพอใจเวลาที่ได้เห็นเครื่องหมายขีดฆ่าหรือติ๊กถูกหน้ารายชื่องานที่คั่งค้าง แต่มันทำให้หลายคนลืมคิดไปว่าแม้งานจะเสร็จ แต่ ‘คุณภาพ’ ที่ได้อาจไม่ตรงตามที่หวังไว้ เพราะเมื่อเราเร่งรีบทำให้เสร็จๆ ไป นั่นหมายถึงเราทำมันแบบผ่านๆ ไม่ได้ผ่านการละเมียดละไมอย่างจริงจัง ทำให้งานที่ออกมาไม่สมบูรณ์ หรือไม่ถูกต้องได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างในกรณีของการตอบอีเมล นั่นอาจทำให้เราเกิด ‘ข้อเสียเปรียบ’ บางอย่าง เพราะตอบอีเมลไปอย่างไม่รอบคอบ โดยเฉพาะอีเมลที่มีเรื่องของอารมณ์หรือการดีลต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

เดวิด โรเซนบัม (David Rosenbaum) ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ก็เห็นด้วยเช่นเดียวกัน เพราะงานวิจัยของเขาเน้นศึกษาผลเสียของการทำงานเสร็จเร็วเกินไป ที่อาจส่งผลต่อการใช้พลังงานและความพยายามไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะผู้คนชอบคิดว่าการเคลียร์ภาระเล็กๆ ให้เสร็จก่อน เหมือนที่เดินไปหยิบถังน้ำใบแรกก่อน จะทำให้เราเหลือสิ่งให้คิดในหัวน้อยลง ซึ่งความคิดในตอนนั้นมักจะเป็น “ฉันสามารถจัดการสิ่งนี้ภายใน 5 นาที ทำไมไม่ทำให้เสร็จไปเลยล่ะ?” และความคิดนั้น จะทำให้เราเหลือแรงไม่พอใช้สำหรับงานชิ้นใหญ่ที่สำคัญและเร่งด่วนที่เหลืออยู่ 



หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘เสียแรงและเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง’ นั่นแหละ


ประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐอเมริกา ผู้ขึ้นชื่อเรื่องการบริหารเวลาได้อย่างยอดเยี่ยม ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ (Dwight Eisenhower) เคยกล่าวไว้ว่า คนเรามีตรรกะการทำงาน หรือจัดการเวลาแบบแปลกๆ อะไรที่ควรทำ เรามักจะไม่เร่งทำ แต่ในขณะเดียวกัน อะไรที่ไม่ค่อยสำคัญ เรามักจะทำเป็นอันดับแรกๆ เขาจึงคิดค้นตารางสี่เหลี่ยมขึ้นมา หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันดี นั่นก็คือ ‘Eisenhower Box’ เพื่อให้เราจัดระเบียบความสำคัญของภาระงานต่างๆ ได้อย่างเห็นภาพชัดขึ้น

และวิธีที่ใช้จัดการกับปัญหา procrastination นี้นี่เอง ก็เป็นวิธีที่เราจะนำมาใช้แก้ปัญหา precrastination ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเรารู้แล้วว่าสิ่งไหนที่เราควรทำเป็นอันดับแรก เราก็จะรู้ว่าสิ่งไหนเราควรทำเป็นอันดับสุดท้าย ทำให้นอกจากจะได้นำแรงทั้งหมดไปทุ่มให้กับงานที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุด เรายังจะได้ใช้แรงที่เหลือไปกับงานยิบย่อยที่ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทมากเท่าไหร่นัก

เพราะการจัดการเวลาที่ดี ไม่ใช่แค่ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จเร็วที่สุด แต่ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ใช้พลังงาน ‘น้อยที่สุด’ ด้วย

แต่จะโทษตัวเราเองทั้งหมดก็ไม่ได้หรอก เพราะตอนนี้เราอยู่ในยุคสมัยที่กดดันให้ทำอะไรเร่งรีบตลอดเวลา วิ่งวุ่นไปมาอย่างไร้จุดหมาย เหมือนที่สำนวนฝรั่งบอกว่า run around like a headless chicken วิ่งวนไปมาเหมือนไก่ไม่มีหัว จนลืมคิดไปว่าสิ่งไหนควรมาก่อนมาหลัง หรือสิ่งไหนสำคัญควรค่าที่จะทำที่สุด

ฉะนั้น It’s okay to smell the flowers แวะดมและชื่นชมดอกไม้ข้างทางบ้าง หรือช้าลงบ้างอะไรบ้าง เพื่อให้ตัวเองได้พักหายใจและพินิจพิเคราะห์สิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ถามตัวเองเสมอว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไรเยอะกินไปหรือเปล่า ใช้แรงไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่ แล้วถ้าทำจนหมดแล้ว ต่อไปจะทำอะไรต่อ?  หรือเหมือนที่เค้าพูดกันขำๆ ว่า ‘อย่าทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะเดี๋ยวพรุ่งนี้จะไม่มีอะไรทำ’




Source :

The Matter

https://thematter.co/social/disadvantages-of-precrastination/111380