หลีกเลี่ยง รวนเร ขาดการจัดการ และมั่นคงปลอดภัย: รูปแบบความผูกพัน 4 แบบของพ่อแม่กับวัยรุ่น

Last updated: 2 ก.ย. 2563  | 

วันที่ 2 กันยายน 2563 - 17:19 น.


บีบีซี ฟิวเจอร์ (BBB FUTURE) นำเสนอบทความเรื่อง “โควิด-19 กำลังทำให้โลกของเด็กๆ เปลี่ยนไปอย่างไร?” (How Covid-19 is changing the world’s children) มีเนื้อหาท่อนหนึ่งใจความว่า สิ่งที่น่ากังวลใจไม่แพ้การส่งเสริมทักษะความรู้ในช่วงที่เด็กๆ ถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน คือ การพัฒนาด้านอารมณ์และการเข้าสังคมซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กเล็กและประถมศึกษา นอกจากนี้ยังมีเรื่องสุขภาพจิตวัยรุ่นขณะใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวตลอด 24 ชั่วโมงเป็นระยะเวลานาน จากสถิติในสหรัฐอเมริกา พบว่า วัยรุ่นร้อยละ 35 ได้รับโอกาสเข้ารับการฟื้นฟูสุขภาพจิตภายใต้การดูแลของโรงเรียน ครูมักเป็นคนแรกที่สังเกตเห็นอาการผิดปกติแล้วกระตุ้นให้พวกเขาเข้ารับการรักษา สำหรับวัยรุ่นหลายคน ‘บ้าน‘ ไม่ใช่สถานที่ที่ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย เมื่ออยู่บ้านบางคนต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัวทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านอย่างต่อเนื่องในช่วงกักตัวแบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องดีนักสำหรับพวกเขา

บทความนี้สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างเด็กเยาวชนกับคนใกล้ชิด หรือเรียกรวมๆ ว่า ‘ผู้ดูแล’ ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และเพื่อน มีอิทธิพลและบทบาทสำคัญอย่างมากในช่วงชีวิตของวัยรุ่น

“วัยรุ่นติดเพื่อนฝูง”

“วัยรุ่นถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้ง่าย”   

เมื่อเอ่ยถึงพฤติกรรมของวัยรุ่นทีไร แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงคำนิยามเหล่านี้ แต่แทนที่จะหยุดรับรู้แค่พฤติกรรมที่แสดงออกในระดับผิวเผิน แล้วตัดสินวัยรุ่นไปตามความเข้าใจที่ว่านั้น น่าจะดีกว่าถ้าเราหันมาทำความเข้าใจเบื้องหลังความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นซึ่งเป็นที่มาของพฤติกรรมดังกล่าว แน่นอนว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของฮอร์โมน แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ซึ่งมีอิทธิพลต่อการประกอบร่างสร้างตัวของเซลล์ประสาทในสมองส่วนต่างๆ

แดเนียล เจ. ซีเกล (Daniel J. Siegel) ผู้อำนวยการสถาบันมายด์ไซด์ และศาสตราจารย์คลินิกจิตเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทชีววิทยาระหว่างบุคคล (interpersonal neurobiology) กล่าวว่า ในช่วงวัยเด็กไปจนถึงวัยรุ่น มิตรภาพ ประสบการณ์ในโรงเรียน กิจกรรมต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม และ ‘ความสัมพันธ์‘ ระหว่างสมาชิกในครอบครัวมีอิทธิพลต่อการพัฒนาสมอง สมองของมนุษย์เติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์รอบตัว 


และเมื่อย่างก้าวสู่วัยรุ่น (อายุ 12-24 ปี) ความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ที่ประกอบขึ้น จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางความคิด การพัฒนาตนเองและการแสดงออกทางพฤติกรรมของวัยรุ่น เชื่อมโยงไปจนถึงการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อนฝูง ความสนใจเพศตรงข้าม / เพศเดียวกัน ความสัมพันธ์กับครอบครัวและผู้คนรอบข้าง


ความสัมพันธ์ก่อให้เกิด ‘ความผูกพัน‘ เราไม่ได้กำลังพูดถึงความสัมพันธ์ที่สร้างความผูกพันในเชิงโรแมนติกเท่านั้น แต่เป็นรูปแบบความผูกพันที่สมองรับรู้จากความสัมพันธ์ที่เด็กเยาวชนสร้างขึ้นกับผู้ดูแลรอบตัวพวกเขา ซีเกล จำแนกความผูกพันออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ ความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัย ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง ความผูกพันแบบรวนเร และความผูกพันแบบขาดการจัดการ



ส่วนผสมของความมั่นคงปลอดภัย (ทางใจ)

ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กเยาวชนและผู้ดูแลเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จนทำให้สมองสร้างพิมพ์เขียวตอบสนองการรับรู้ต่อเหตุการณ์ต่างๆ สื่อสารออกมาทางพฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึก รูปแบบความผูกพันที่ว่าสะท้อนให้เห็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ คือ ความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย (ทางใจ)

เด็กเยาวชนต้องการความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเป็นเกราะคุ้มกัน ช่วงเวลาในวัยเด็กคิดเป็นร้อยละ15 ของช่วงชีวิตที่ยังต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ หากรวมช่วงวัยรุ่นเข้าไปด้วยจนถึงอายุราว 24 ปี นั่นเท่ากับหนึ่งในสามของชีวิตที่มีอิทธิพลต่อช่วงชีวิตที่เหลือ ซีเกล อธิบาย ‘ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย หรือ secure‘ ว่าเกิดขึ้นได้ เมื่อความสัมพันธ์นั้นประกอบด้วย seen, safe และ soothed

seen – ในที่นี้ ไม่ใช่แค่ การถูกมองเห็น การมีตัวตน หรือการเป็นที่ยอมรับ แต่หมายถึง การมองเห็นเข้าไปถึงความต้องการภายในจิตใจ เมื่อเด็กเยาวชนแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกไป ผู้ดูแล สามารถมองเห็น รับรู้และเข้าใจความรู้สึกนึกคิดเบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านั้นของพวกเขา เช่น เมื่อเด็กๆ ร้องไห้ เด็กไม่ใช่แค่ได้รับความสนใจจากเสียงร้อง แต่ผู้ดูแลสามารถค้นพบความต้องการจริงๆ ของเด็กแล้วตอบสนองความต้องการเหล่านั้น

safe – การที่เด็กๆ ได้รับการปกป้องจากความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ดูแลไม่ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวหรือหวาดระแวง และไม่สร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว

soothed – การทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีที่พึ่งพิง เช่น เมื่อเด็กๆ รู้สึกเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง ผู้ดูแลสามารถปลอบประโลมให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น เช่น การกอด และการรับฟัง

เมื่อเด็กเยาวชนถูกเติมเต็มด้วย seen safe และ soothed แล้ว พวกเขาจะรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัยในความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพวกเขากับพ่อแม่ เกิดเป็นรูปแบบความผูกพันแบบแรก คือ ความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัย (The Secure Model)

ส่วนความผูกพันอีก 3 รูปแบบ มีที่มาจากความสัมพันธ์ผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป

รูปแบบความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง (The Avoidant Model) เกิดขึ้นเมื่อเด็กขาด seen และ soothed จนทำให้เด็ก ‘ถอยห่าง‘ จากพ่อแม่ เช่น เมื่อพวกเขามีปัญหาต้องการคำปรึกษาหรือต้องการคนรับฟัง พ่อแม่กลับไม่สนใจ เพิกเฉย ไม่สามารถตอบสนองความต้องการนั้น จากการศึกษาพบว่า พ่อแม่กลุ่มนี้มักมองข้าม/ มองไม่เห็นการแสดงออกทางสีหน้าและท่าทางของลูก ทั้งที่พวกเขาสื่อสารถึงความไม่สบายใจ ความเศร้าและความกดดันต่างๆ อย่างชัดเจนเพียงแค่ไม่ได้พูดออกมา

เมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เด็กๆ ย่อมรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจพวกเขาแล้วมองหาที่พึ่งพิงอื่นที่ทำให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัย เราจึงมักเห็นวัยรุ่นใกล้ชิดกับพ่อแม่น้อยลง ความเชื่อใจและความไว้ใจของวัยรุ่นที่มีต่อพ่อแม่ก็ค่อยๆ ลดลงตามไปด้วย ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่เท่านั้น แต่รูปแบบความผูกพันแบบหลีกเลี่ยงนี้ยังส่งผลต่อการปรับตัวของเด็กเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

รูปแบบความผูกพันแบบรวนเร (The Ambivalent Model) เกิดขึ้นเมื่อเด็กต้องเผชิญหน้ากับ “ความไม่คงเส้นคงวา” ของผู้ใหญ่ จากประสบการณ์ที่บางครั้งพ่อแม่ก็ให้ความสนใจพวกเขา แต่บางครั้งก็เมินเฉยหรือแสดงความรู้สึกรำคาญ จนพวกเขารู้สึกสับสน คิดไม่ตกว่าจะเข้าหาหรือขอคำปรึกษาจากพ่อแม่ดีหรือปล่อยผ่าน ภาวะแบบนี้มีที่มาจากการที่เด็กขาดทั้ง seen, safe และ soothed

บ่อยครั้งที่พ่อแม่มีความวิตกกังวล การไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียดของตัวเองได้ ซึ่งอาจมีที่มาปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาเรื่องงาน จนไม่สามารถโฟกัสไปที่การดูแลลูก ทำให้ไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา ไม่สามารถตอบสนองสิ่งที่พวกเขาต้องการและจำเป็นต้องได้รับอย่างตรงจุด แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือ สมองของเด็กจะซึมซับความรู้สึกกังวลใจและความเครียด จนทำให้เด็กเกิดความกลัวและหวาดผวาแม้กระทั่งกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่

และ ความผูกพันแบบขาดการจัดการ (The Disorganized Model) เป็นความผูกพันแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อระหว่างความผูกพัน 3 รูปแบบก่อนหน้า ความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ต้นเหตุไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่กับเด็กโดยตรง แต่เป็นผลพวงของสภาวะอารมณ์ที่ถูกโอนย้ายมาลงที่เด็ก เช่น พ่อแม่ทะเลาะกันมาก่อนแล้วอารมณ์ไม่ดีใส่ลูก ทั้งที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด เด็กจึงรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมแต่ไม่สามารถเรียกร้องหาทางออกให้กับตัวเองได้ บรรยากาศของความเกรี้ยวกราด และอารมณ์ขุ่นมัวที่เกิดขึ้นนี้กระตุ้นการทำงานของระบบสมอง 2 ส่วน

ส่วนแรกระบบสมองที่ตอบสนองเพื่อการเอาตัวรอด ‘Flee – หนี’ และ ‘Freeze – ภาวะหยุดชะงัก’ และส่วนที่สองเป็นการทำงานของระบบลิมปิกที่ทำให้เด็กรู้สึกว่า ตัวเองควรได้รับการปกป้องและปลอบประโลม แต่ระบบสมองทั้งสองส่วนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ในเวลาเดียวกัน ความปั่นป่วนภายในสมองที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ลักษณะนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและภาวะซึมเศร้าได้ (อ่านบทความ ไม่หนี ไม่สู้ สมองถูกแช่แข็ง จากความเครียดท่วมท้นในสมองเด็ก)

รูปแบบความผูกพันที่เด็กเยาวชนสร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เป็นการทำงานด่านแรกของสมอง แต่เรามักมองข้ามความสัมพันธ์นี้ จากคำตัดสินว่า ‘วัยรุ่นติดเพื่อนฝูง‘



ทั้งที่ “ความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัย” จากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในครอบครัวและจากคนใกล้ชิด เป็นเกราะป้องกันพวกเขาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ หากเราบอกว่า “วัยรุ่นถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้ง่าย” ความผูกพันนี้จะช่วยให้พวกเขา “ถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้ยากขึ้น” 


เมื่อใดก็ตามที่วัยรุ่นไม่รู้สึกเชื่อใจและไว้ใจพ่อแม่ ไม่รู้สึกปลอดภัยและสบายใจเมื่อมีพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่ใกล้ชิด รู้สึกว่าต้องหลีกเลี่ยงจากคนในครอบครัว หวาดระแวง และสับสน เมื่อนั้นพวกเขาจะพยายามหาทางเติมเต็มส่วนที่ขาดด้วยการมองหาแล้วพาตัวเองไปสร้างความผูกพันกับบุคคลอื่น สถานที่อื่นหรือสิ่งอื่น เพื่อเติมเต็มความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่ขาดหายไป และเพื่อให้พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ โชคดีหน่อยหากเด็กเหล่านี้มีครูที่ทำให้พวกเขาไว้วางใจ มีรุ่นพี่หรือเพื่อนที่คอยชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง หรือมีไอดอลที่เป็นแบบอย่างที่ดี แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นมักตรงกันข้าม

ดังนั้นจึงไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการทำความเข้าใจวัยรุ่น และไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการยอมรับข้อผิดพลาด แล้วปรับเปลี่ยนวิธีคิดและทัศนคติเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวและคนรอบข้าง รวมถึงกับตัวเราเอง



รายงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ปี 2019 จากศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Center for Biotechnology Information: NCBI) ระบุว่า ความรุนแรงในครอบครัวสร้างความเสียหายทางอารมณ์ต่อเด็กและเยาวชนและส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องเมื่อเหยื่ออายุมากขึ้น

– เด็กเยาวชนราว 45 ล้านคน มีประสบการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก
– ร้อยละ 90 อยู่ในเหตุการณ์และอยู่ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้น
– เด็กเยาวชนที่พบเห็นความรุนแรงในครอบครัวมีความเสี่ยงสูงที่จะใช้ความรุนแรงกับคนที่ตัวเองคบหา มีปัญหาชีวิตคู่และการดูแลลูก
– เด็กเยาวชนที่พบเห็นความรุนแรงในครอบครัวมีความเสี่ยงสูงที่จะพบอาการผิดปกติจากความเครียดภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีพฤติกรรมก้าวร้าว วิตกกังวล พัฒนาการบกพร่อง มีปัญหาการเข้าสังคมในกลุ่มเพื่อน ปัญหาด้านการศึกษา และมีความเสี่ยงสูงที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
– เด็กเยาวชนที่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัวมีความเสี่ยงสูงที่ประสบปัญหาภาวะทางจิต
– ร้อยละ 80-90 ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวมีพฤติกรรมทารุณกรรมและทอดทิ้งลูก
– ยังมีวัยรุ่นอายุราว 12-19 ปีส่วนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวแต่ไม่ได้แสดงตัวการถูกล่วงละเมิด จากสถิติพบเคสช่วงอายุดังกล่าวถูกรายงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเพียง 1 ใน 3 ขณะที่ช่วงอายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป ได้รับรายงานเชื่อมโยงกับความรุนแรงในครอบครัวถึงครึ่งหนึ่ง







SOURCE :

The Potential

https://thepotential.org/knowledge/four-attachment-styles/