ห้องเรียนยุคใหม่กับการปรับพฤติกรรมนักเรียนไทยอย่างสร้างสรรค์

Last updated: 12 พ.ย. 2563  | 

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 - 15:57 น.

 

เมื่อนึกถึงภาพบรรยากาศห้องเรียนที่เราคุ้นเคยขณะเป็นนักเรียนนั้น เราก็คงพอจะอธิบายลักษณะของห้องเรียนในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี รวมทั้งระเบียบ และข้อตกลงต่างๆ ที่ได้ทำร่วมกับครูผู้สอนไว้นั้นเราได้ตามมากน้อยแค่ไหน ในทางกลับกัน มุมมองของครูผู้สอนที่จะต้องเข้าไปทำการเรียนการสอน และรับมือกับนักเรียนจำนวนมากในห้องเรียนท่ามกลางความไม่พร้อมของนักเรียน ต้องประสบกับความท้าทาย และอาศัยการเตรียมตัวมากพอสมควรที่จะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม และมุมมองความประพฤติของนักเรียนในห้องเรียนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้ได้มากที่สุด

การเตรียมบรรยากาศชั้นเรียนที่เหมาะสมส่งผลให้การจัดการเรียนรู้ และการปรับพฤติกรรมมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยกระบวนการการจัดการพฤติกรรมของนักเรียนควบคู่กับการจัดการสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนที่สร้างสรรค์ และเป็นประชาธิปไตย

“เอาชนะอุปสรรคด้านพฤติกรรมในห้องเรียนด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียน-นักเรียน” พฤติกรรมภายในห้องเรียนของนักเรียนถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียนต่างก็ได้รับอิทธิพลจากพฤติกรรมของเพื่อนร่วมชั้นเรียนไม่มากก็น้อย ดังนั้น ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียนจึงนับเป็นปัจจัยในการเอาชนะอุปสรรคด้านพฤติกรรมหรือพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงได้ โดยมุ่งเน้นที่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างครู-นักเรียน นักเรียน-นักเรียน ประกอบกับการประยุกต์ใช้ขั้นตอนกระบวนการต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยหรือสาเหตุที่เกี่ยวข้องอันก่อให้เกิดพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงขึ้น อย่างไรก็ตาม ลักษณะนิสัย พฤติกรรม และความต้องการของนักเรียนแต่ละห้องล้วนแตกต่างกันไป วิธีการจัดการห้องเรียนที่ประสบความสำเร็จสำหรับเด็กนักเรียนแต่ละรุ่น แต่ละห้องก็ล้วนไม่เหมือนกัน

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ควรทำในเบื้องต้น คือ การศึกษาและสังเกตลักษณะนิสัยของนักเรียนแต่ละคน รูปแบบของกลุ่มที่มีอำนาจในห้องเรียนและความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน หรือแม้แต่การเลือกที่นั่งในห้องเรียนของนักเรียนเองก็เช่นกัน เนื่องจากสะท้อนให้เห็นลักษณะความสัมพันธ์ และกลุ่มของนักเรียนซึ่งส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมและการปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มนักเรียนเอง

“ปรับสิ่งแวดล้อม อารมณ์ และพฤติกรรมของนักเรียนด้วยการจัดบรรยากาศในห้องเรียน” นอกจากการศึกษาสังเกตลักษณะนิสัย และพฤติกรรมของนักเรียนแล้วนั้น บรรยากาศในห้องเรียนก็ถือเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อการปรับเปลี่ยนหรือขัดเกลานิสัย รวมทั้งพฤติกรรมการแสดงออกต่อผู้อื่นให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้การจัดบรรยากาศภายในห้องเรียนสามารถทำได้ตามตัวแบบที่ประสบผลสำเร็จ ดังต่อไปนี้

ประการแรก คือการปรับเปลี่ยนผังหรือรูปแบบที่นั่งของนักเรียนในห้องเรียน การปรับเปลี่ยนกลุ่มหรือเพื่อนที่นั่งข้างเคียงกลุ่มใหม่ๆ จะช่วยปรับพฤติกรรมของนักเรียนให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยใช้ความสัมพันธ์และการเรียนรู้ทางสังคมจากกลุ่มเพื่อน ประกอบกับธรรมชาติของเด็กในการเข้าสังคม การแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรมทางสังคมของเด็กที่แตกต่างกันไป ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อการวิเคราะห์การจัดผังที่นั่งที่มีประสิทธิภาพ อาศัยอิทธิพลของกลุ่มเพื่อนเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แน่นอนว่าเด็กที่มีที่มาจากหลากหลายต่างก็มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป

ประการที่สอง คือปรับตำแหน่งของการจัดวางข้อตกลงภายในห้องเรียนให้อยู่ในระยะสายตาที่ทุกคนในห้องเรียนสามารถมองเห็นได้ รวมทั้งมีการจัดกลุ่มสนทนาให้คำแนะนำด้านพฤติกรรมระหว่างนักเรียนเอง รวมทั้งนำเสนอสิ่งที่ครูสังเกตเห็นแก่นักเรียนเป็นประจำ โดยเพิ่มบทบาท และยึดความร่วมมือระหว่างเพื่อนนักเรียนในการช่วยสอดส่องดูแลซึ่งกันและกันในการปรับลดพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพิ่มพฤติกรรมที่น่าปรารถนาภายในห้องเรียนเป็นหลัก ในขั้นตอนดังกล่าวนี้ บทบาทของครูเปรียบเสมือนผู้ที่อำนวยความสะดวกให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในกลุ่มนักเรียนให้ได้มากที่สุด ครูให้อิสระและเปิดกว้างแก่นักเรียนในการแสดงความคิดเห็นบนฐานของเหตุและผล ซึ่งครูจะมีส่วนในการขัดเกลาวิธีการคิด และพฤติกรรมของนักเรียนโดยเลือกใช้คำถามชวนคิด โดยปราศจากการตัดสินถูกผิดดีเลวระหว่างการสนทนา

ประการที่สาม คือ ปรับเพิ่มพื้นที่ให้พอดีกับการใช้งานของนักเรียน ทั้งนี้ด้วยขนาดของโต๊ะนักเรียน รวมทั้งพื้นที่รอบโต๊ะนักเรียนที่มีจำกัด หากเพื่อนที่นั่งข้างๆ ขยับตัวหยิบสิ่งของหรือลุกล้ำพื้นที่ระหว่างกันอาจส่งผลให้เกิดความไม่พอใจหรือเสียสมาธิขณะเรียนขึ้นได้ ดังนั้น ครูผู้สอนหรือครูประจำชั้นจึงควรทำการจัดแบ่งพื้นที่ให้เคลื่อนไหวได้อย่างสะดวก เพียงพอเหมาะกับการใช้งานของนักเรียน

จากการศึกษาเรื่องการจัดผังที่นั่งบนฐานของความเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรม และการจัดการความสัมพันธ์ของนักเรียน พบว่าได้ผลลัพธ์ทางพฤติกรรมที่น่าพอใจในระยะยาว นักเรียนมีความสามัคคี เรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน รู้จักเห็นอกเห็นใจ และรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนไม่ได้เป็นผลจากการจัดผังที่นั่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังอาศัยการเก็บข้อมูลพฤติกรรม การสังเกต และเข้าใจลักษณะนิสัยของนักเรียนอย่างมากในการจัดที่นั่ง และการอบรมให้คำแนะนำจากครูในการปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเข้าอกเข้าใจ พยายามหลีกเลี่ยงการจัดกลุ่มที่นั่งที่รวมเอาเด็กนักเรียนที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงหรือไม่เหมาะสมไว้ด้วยกัน เพราะจะเท่ากับส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมระหว่างกันให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

 ดังนั้น การลดปัญหาพฤติกรรมอันของนักเรียนอย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืนได้นั้น ต้องอาศัยการจัดการที่คำนึงถึงสภาพจิตใจหรือความสัมพันธ์ของนักเรียน และสิ่งแวดล้อมภายในห้องเรียนควบคู่กันไป การจัดผังที่นั่งหรือกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายเข้าด้วยกัน ถือเป็นการเรียนรู้ทางสังคม และการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ ยังเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด หรือข้อมูลอย่างเป็นเหตุเป็นผล รู้จักเคารพซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น

 

 

 

 

 

SOURCE :

educathai

https://www.educathai.com/knowledge/articles/426