ไม่ใช่พ่อรวยสอนลูก แต่คือหลักสูตรผู้ประกอบการที่สอนให้ทำได้ ทำเป็น

Last updated: 28 ก.พ. 2563  | 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 - 09:18 น.


เพียงระยะไม่กี่ปีนี้ เกิดธุรกิจ startup ทั้งแอพพลิเคชั่นหรือสินค้าบริการหลากหลายต่างๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงธุรกิจเหล่านั้นเข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ยังส่งอิทธิพลถึงโครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบันอย่างรวดเร็วด้วย ผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ทั้งเจ๋งและน่าสนใจก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Grab, Wongnai, Airbnb, Lazada พวกเขามองเห็นโอกาสและสามารถผสมผสานไอเดียเข้ากับนวัตกรรมใหม่ๆ มาสร้างความสะดวกสบายให้ชีวิตง่ายดายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ยิ่งการเติบโตของธุรกิจแนวนี้กำลังสร้างเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำและยังมีอิทธิพลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจบ้านเรา ผู้คนยิ่งกระตือรือร้นที่จะหาโอกาสทางธุรกิจเป็นของตัวเองกันมากขึ้นเช่นกัน เราจึงเริ่มเห็นภาคการศึกษาตอบรับกระแสความตื่นตัวนี้อย่างจริงจังด้วยการเปิดหลักสูตรเน้นด้าน ‘ความเป็นผู้ประกอบการ’ (Entrepreneurship) โดยเฉพาะ




เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพก่อตั้งภาควิชาที่เรียกว่า School of Entrepreneurship and Management หรือ BUSEM มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีหลักสูตรการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการในคณะศึกษาศาสตร์ และหลักสูตร Innovative Entrepreneurship ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น


ทำไมโรงเรียนต้องสอนความเป็นผู้ประกอบการ?

แต่ไหนแต่ไรมา สิ่งที่เราเรียนรู้ในโรงเรียนส่วนใหญ่ต่อไม่ติดกับโลกที่เราต้องทำงานประกอบอาชีพจริง ทั้งๆ ที่เรียนมาหมดแล้วไม่ว่าจะเลข ภาษาอังกฤษ สังคม วิทยาศาสตร์ แต่สุดท้ายหลายคนกลับไม่รู้ว่าโตไปแล้วจะทำอะไรดี พวกเขาไม่รู้ว่าจะแปลงทักษะความรู้เหล่านั้นให้เป็นงานหรืออาชีพใดที่เป็นความต้องการของตัวเองจริงๆ

เราคาดหวังว่าโรงเรียนจะสอนให้สันทัดต่อโลกที่ไม่หยุดนิ่งและสอนวิทยาการให้เราสามารถรับมือกับโลกทั้งใบด้วย passion บางอย่าง อาชีพในอนาคตที่จะกลายส่วนหนึ่งของตัวตน คุณค่า และความพอใจในตัวเองจะเปิดอ้ารอรับเรา แต่แล้วทำไมจนบัดนี้จึงยังมีคนมากมายที่ใช้เวลามากกว่าสิบปีในรั้วการศึกษาแต่กลับยังไม่เคยได้รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองเก่งทางไหนและควรทำอะไรดี

สาเหตุก็เป็นเพราะนอกจากเรียนรู้แบบเลื่อนลอย การศึกษาไม่ให้โอกาสเราได้ลองประสบการณ์ทำงานจริงแบบมีเป้าหมายในตัวเองมาก่อนเลย

คอนเซ็ปต์การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการคือ การศึกษาเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายทางธุรกิจอาชีพ เปิดโลกทัศน์ให้เรามีทางเลือกในอนาคตว่าจะสามารถสร้างงานหรืออาชีพสำหรับตนเองได้เมื่อมีทักษะประสบการณ์จากการทำงานจริง มี mindset ที่ไม่กลัวปัญหา สามารถมองเห็นโอกาส มีไอเดียแปลกใหม่และรู้วิธีว่าจะนำไอเดียนั้นมาสร้างนวัตกรรมหรือบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ได้อย่างไร


ทั้งหมดทั้งมวลไม่ใช่สอนแบบให้รู้ แต่คือสอนให้ทำได้ ทำเป็น

และนำไปสู่เส้นทางอาชีพที่มาจากการเลือกอย่างเข้าใจรู้จักตัวเอง


หลักสูตรพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการควรสอนอะไรบ้าง?

รายละเอียดปลีกย่อยของหลักสูตรผู้ประกอบการในสถาบันและบริบทสังคมเศรษฐกิจของแต่ละแห่ง อาจมีจุดเด่นแตกต่างกัน แต่จำเป็นต้องเป็นแบบพหุวิทยาการ (Multidisciplinary) ฝึกให้ผู้เรียนคิดและทำจริงโดยเชื่อมโยงความรู้จากสาขาวิชาต่างๆเช่น การสื่อสาร การตลาด เศรษฐศาสตร์การเงิน การบริหาร หรือกระทั่งบริบทสังคมมาประสานสอดคล้องกันเป็นภาพใหญ่ได้

สำหรับหลักพื้นฐานทั่วไปที่โรงเรียนต้องใส่ใจ ยูจีน ลุชคิฟ (Eugene Luczkiw) ที่ปรึกษาพิเศษและวิทยากรด้านผู้ประกอบการคณะบริหารธุรกิจแห่ง Brock University แคนาดาชี้ว่าต้องประกอบไปด้วยหลัก 5E นี้เสมอคือ

Environment – กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจสิ่งแวดล้อม ความเป็นไปรอบตัวหรือชุมชนที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมความเป็นอยู่ หรือในทางกลับกันวัฒนธรรมการใช้ชีวิตส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร พร้อมๆ กับกระตุ้นให้พวกเขาตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้น ว่า “ทำอะไร” “ทำอย่างไร” “ทำเมื่อไร” “เพราะอะไรจึงทำ”

Economy – ฝึกผู้เรียนให้สังเกตความเป็นไปทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเอง ธุรกิจใดกำลังรุ่ง ธุรกิจใดกำลังร่วง และกลุ่มธุรกิจใดบ้างอิงอิทธิพลซึ่งกันและกัน ธุรกิจเหล่านั้นดำเนินการอย่างไร

Entrepreneurs – สร้างแรงจูงใจด้านความสำเร็จจากวิสัยทัศน์และประสบการณ์ตรงของผู้ประกอบการหลากหลายประเภท เขามีอะไรเป็นแรงจูงใจในการค้นหาโอกาสธุรกิจ มองปัญหาเป็นไอเดียต้นทางไปสู่นวัตกรรมสร้างสรรค์หรือทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาในชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้อย่างไร

Enterprise – (สำคัญสุดๆ ข้อนี้) ห้องเรียนต้องเปิดโอกาสและเป็นพื้นที่ให้ผู้เรียนสร้างและค้นหาตัวตน passion ความถนัด จุดแข็งจุดอ่อน ความสามารถพิเศษ เป้าหมายชีวิต ความใฝ่ฝัน ลักษณะนิสัยเมื่อต้องทำงานกับคนอื่น จริตในการเรียนรู้เข้าใจ ไปจนกระทั่ง จิตสำนึกต่อเพื่อนมนุษย์ สิ่งแวดล้อมหรือโลกใบนี้

Entreplexity – ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนได้นำความรู้แต่ละด้าน และศักยภาพเฉพาะของตนทั้งหมดมาผสมผสานผ่านการลงมือทำจริง (active learning)

นอกจากนี้ คุณสมบัติด้านอื่นๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ความคิดยืดหยุ่น ความมานะอุตสาหะ ความเป็นผู้นำ และจริยธรรมก็จำเป็นต้องได้รับการขัดเกลาปลูกฝังพร้อมกันไปด้วย กว่าจะแข็งแกร่งทางทักษะ มีความมั่นใจจากประสบการณ์ กลไกการเรียนรู้เติบโตทั้งปวงใช้เวลา ดังนั้นจะยิ่งได้เปรียบมากหากเด็กได้รับความรู้ด้านผู้ประกอบการจากพ่อแม่และโรงเรียนตั้งแต่ยังเล็ก (Shikati, 2018)


ในชั้นเรียนครูทำหน้าที่ผู้แนะแนว (mentor) หรือกระบวนกร (facilitator)

โฟกัสที่กระบวนการการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตนเอง (experiential learning)

ของนักเรียน มากกว่าการสอนแบบขึ้นกระดานเรียนและเรียนแต่ละวิชาแบบแยกย่อย

โดยรู้แค่หลักการแต่ปะติดปะต่อให้เกิดเป็นแนวทางธุรกิจจริงๆ ไม่เป็น


ด้านล่างนี้คือตารางสรุปเปรียบเทียบวิธีสอนแบบดั้งเดิมที่ไม่ได้ผล กับวิธีที่ครูควรนำมาใช้


วิธีสอนที่ตกยุคและไม่ได้ผลวิธีสอนที่มีประสิทธิภาพ
สอนตามตำราออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้หลากหลายและเปลี่ยนแปลงได้
เน้นทฤษฎีเป๊ะๆเน้นลงมือปฏิบัติ และถอดบทเรียนจากประสบการณ์
เน้นการท่องจำเน้นให้เข้าใจที่มาที่ไป และต้องดำเนินการอย่างไร
เน้นการเรียนแบบแยกรายวิชาเน้นการเรียนแบบองค์รวมและการแก้ปัญหา
ครูคือผู้ควบคุมการเรียนรู้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างเสรีด้วยตนเอง
ครูบอกคำตอบและวิธีการครูร่วมเรียนรู้และส่งเสริมการเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียน
ผู้เรียนเป็นผู้รับข้อมูลความรู้ที่ครูสอนผู้เรียนสร้างความเข้าใจความรู้นั้นด้วยตนเอง
เนื้อหาความรู้เป็นแบบตายตัวตามที่กำหนดไว้เนื้อหาความรู้ปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นตามความต้องการผู้เรียน
จุดประสงค์การเรียนรู้เป็นข้อบังคับที่ต้องทำตามจุดประสงค์การเรียนรู้ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์


แรงบันดาลใจ vs ความล้มเหลว

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติหรือพลังสำคัญอย่างหนึ่งอันเป็นจุดกำเนิดของภาพความเป็นผู้ประกอบทั้งหมดซึ่งหาได้ยาก และยังสามารถสร้างอิทธิพลแรงกล้าต่อความเชื่อมั่นในตนเอง และความสำเร็จของผู้ที่ใฝ่ฝันจะสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นได้ก็คือ inspiration

แรงบันดาลใจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน กับทั้งไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จเสียทีเดียว มันเป็นแรงผลักที่ปลุกความเชื่อมั่นให้กล้าทำตามฝัน เหมือนกับมีใครสักคนคอยยืนยันกับเราว่า “เธอทำไอเดียนั้นให้เกิดขึ้นจริงได้แน่!” โรเบิร์ต กริน (Robert Gryn) ประธานบริษัท Codewise ซึ่ง Financial Times ยกย่องให้เป็นบริษัทเจ้าแรกในอุตสาหกรรมการตลาดดิจิตอลที่ใช้ AI ในการวัดผลโฆษณาออนไลน์ที่เติบโตเร็วที่สุดในยุโรป ยืนยันว่า ‘แรงบันดาลใจ’ คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่างที่ทำให้เขาก้าวข้ามปมด้อยด้านการศึกษาและเงินสนับสนุน ทำให้เขาตัดสินใจลองตั้งบริษัทของตัวเองเป็นครั้งแรกในโปแลนด์ขณะที่สภาพเศรษฐกิจไม่ได้เอื้ออำนวย ทั้งยังโดนสบประมาทอย่างหนักจากพ่อว่า “อย่าหวังว่าแกจะรันบริษัทสำเร็จ ถ้ายังไม่มีประสบการณ์อย่างน้อยก่อนสักสิบปี”

ไม่กี่เดือนต่อมาเขาพบว่าพ่อพูดถูก บริษัทเจ๊งไม่เป็นท่า แต่เขาก็ยักไหล่เฉยๆ กับมันทั้งยังคงไว้ซึ่งแรงบันดาลใจและความกล้าที่จะเริ่มต้นใหม่ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อความล้มเหลว

ก็แล้วคนเราจะเก่งได้อย่างไรล่ะถ้าไม่ได้ล้มเหลวผิดพลาดเลย? คือมุมมองหนึ่งที่จะต่อยอดแรงบันดาลใจของนักฝันได้ แต่อย่างไรก็ตาม กรินก็ยอมรับว่าทัศนคติต่อความล้มเหลวของพ่อแม่และครูสำคัญมากสำหรับการปั้นผู้ประกอบการให้เป็นนักสู้อย่างเขา เพราะสำหรับคนส่วนใหญ่ แรงบันดาลใจมักมอดดับไปจากความกลัวการล้มเหลวผิดพลาด

มุมมองนี้ของกรินยังสอนเราอีกด้วยว่าเมื่อโรงเรียนและครอบครัวอยากสอนให้เด็กๆ เอาตัวรอดในโลกนี้ให้เป็น ก็จงอย่ายึดติดกับ comfort zone หรือศักดิ์ศรี และอย่ารีรอที่จะเริ่มบางอย่างเพราะเอาแต่มองความล้มเหลวเป็นเรื่องผิด ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งที่แสนธรรมดาของชีวิต และเป็นเส้นทางบังคับที่ทุกคนต้องผ่านไปสู่ความสำเร็จ



ผู้ประกอบการหรือพ่อค้าหน้าเงิน?

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะบอกว่าการสอนความรู้ผู้ประกอบการโดยผิวเผินแล้วก็คือการสอนให้เด็กๆ คิดแบบหัวการค้าดีๆ นี่เอง เห็นอะไรเป็นเงินเป็นทอง ทำยังไงจะได้กำไร? ทำยังไงจึงจะรวย? เหล่านี้ก็อาจถูกเพียงบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ไมค์ สเติร์ม (Mike Sturm) บรรณาธิการ The Junction และ The Understanding Project ใน MEDIUM Startups มองว่าแนวทางที่ยัดเยียดให้ผู้เรียนเอาความรวยเป็นจุดหมาย ไขว้เขวจากแนวทางความเป็นผู้ประกอบการที่ถูกต้อง ผลที่ตามมาเมื่อผู้คนหวังแต่จะรวยเพียงอย่างเดียวจากการสร้างธุรกิจอะไรสักอย่าง

เราจะเห็นธุรกิจเลียนแบบซ้ำกันไปมาเกิดขึ้นเต็มไปหมด คนหนึ่งคิดไอเดียได้ อีกคนอยากรวยบ้างก็รีบทำตามทันทีจนกลายเป็นเฝือ (คล้ายๆ กับปรากฏการณ์ชานมไข่มุกในตอนนี้) แก่นแท้ของผู้ประกอบการที่ทุกคนต้องมีจริงๆ และโรงเรียนต้องปั้นให้เกิดกับผู้เรียนให้ได้ จึงเป็น อัตลักษณ์ทางความคิดสร้างสรรค์และการยกระดับพัฒนาบริการ และนวัตกรรมขึ้นมาใหม่เป็นของตนเอง

สเติร์มไม่ได้โลกสวย ใครทำธุรกิจก็อยากรวยทั้งนั้น ต้องแคร์ด้วยหรือว่าจะซ้ำกับใครถ้าขายแล้วได้เงิน แต่อย่าลืมว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เงินมาเป็นอันดับหนึ่ง ความคิดสร้างสรรค์ก็มักจะตีบตันลงทันที ไอเดียเจ๋งๆ มักแว้บขึ้นมาตอนเรารู้สึกอิสระ ไร้กรอบกำหนดหรือปราศจากความกลัวว่าจะเป็นไปไม่ได้หรือล้มเหลวขาดทุน ดังนั้นในโรงเรียนที่เริ่มสอนเรื่องเป้าหมายการทำธุรกิจหรือสร้างอาชีพตั้งแต่อายุยังน้อย จึงจำเป็นต้องพุ่งเป้าไปที่การสอนคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันเด็กๆ ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างสมวัย สามารถเล่นสนุกเสรีตามวัยของเขาด้วย ไม่ยัดเยียดทัศนคติอายุน้อยร้อยล้านแต่อย่างเดียว หรือผูกขาดความคาดหวังการเป็นผู้ประกอบการด้วยความรวย

มิเช่นนั้นแล้ว สังคมก็จะเต็มไปด้วยธุรกิจของพ่อค้าหน้าเลือดที่หวังแต่จะฟันกำไร ส่วนหนึ่งของผู้บริโภคจะกระเหี้ยนกระหือรือสร้างอาชีพด้วยเป้าหมายแบบเดียวกัน วนลูปกันจนเป็นงูกินหางในที่สุด


Source: 

ThePotential

10 อันดับประเทศที่เหมาะต่อการเลี้ยงลูกมากที่สุดแห่งปี 2020

https://thepotential.org/2019/07/12/entrepreneurship-education/