พื้นที่ที่ 5 ที่คนรุ่นใหม่สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้รู้ว่า “ฉันเป็นใคร มีศักยภาพอะไร”

Last updated: 6 มี.ค. 2563  | 

วันที่ 06 มีนาคม 2563 - 14:34 น.


ครอบครัว เพื่อน การศึกษา/อาชีพ และไลฟ์สไตล์หรือวิถีการใช้ชีวิต เป็นสี่พื้นที่ที่มีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชน แต่ยังมีตัวช่วยเสริมพลังอีกหนึ่งอย่าง เรียกว่า พื้นที่ที่ 5 (the 5th Space) ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนจากภายในสู่ภายนอก (Inside-out)

พื้นที่ที่ 5 (the 5th Space) คือพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่สามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ โดยเชื่อว่าการได้รับโอกาสอย่างเต็มที่ในการเป็นผู้นำ ทดลอง เรียนรู้ ล้มเหลว หรือแม้แต่ทำผิดพลาด เป็นประสบการณ์สำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจตนเองจากภายใน ก่อนออกไปสร้างความสัมพันธ์กับภายนอก (self to society)

ลักษณะของพื้นที่ที่ 5 คือ 1) เป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่เชื่อใจและได้รับความไว้วางใจ (to trust and be trusted) 2) เป็นพื้นที่ชีวิต ปลอดภัยที่เด็กและเยาวชนสามารถเป็นตัวของตัวเองที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดได้ 3) เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ได้รู้จักกับความหลากหลาย และสร้างความสัมพันธ์กับภายนอก 4) เป็นพื้นที่ที่มีความสนุกสนานและรื่นรมย์

การสร้างการเติบโตและการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ การบริการจัดการองค์กรทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ หรือแม้แต่การดูแลสมาชิกในครอบครัว คงไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น หากสมาชิกโดยเฉพาะผู้นำครอบครัวหรือองค์กร ไม่มีความเข้าใจธรรมชาติที่แตกต่างกันของคนแต่ละช่วงวัยที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

จากตัวเลขสถิติประชากรไทยในปี 2561 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีประชากรในวัยเด็ก (0-14 ปี) คิดเป็นร้อยละ 16.79 วัยแรงงาน (15-59 ปี) คิดเป็นร้อยละ 64.74 และวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) คิดเป็นร้อยละ 16.06 ของประชากรทั้งหมด


ตัวเลขนี้กำลังบอกอะไรกับเรา?

สัดส่วนร้อยละ 64.74 ของวัยแรงงานในปัจจุบัน เป็นส่วนผสมของสามเจเนอเรชั่น ได้แก่ Gen X คนที่เกิดระหว่างปี 2508-2522, Gen Y หรือมิลเลนเนียลส์ (Millennial) คนที่เกิดระหว่างปี 2523-2540 และ Gen Z ที่เกิดหลังปี 2540 ทั้งหมดต้องสื่อสาร โต้ตอบ ทำงานและใช้ชีวิตร่วมกัน บนความเชื่อ ความคิด การให้คุณค่า ทัศนคติและมุมมองที่มีต่อสิ่งต่างๆ ในสังคมแตกต่างกัน

ยุคนี้จึงเป็นยุคที่เราได้เห็นความเข้าใจไม่ตรงกันหรือความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารระหว่างผู้คนอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่ว่ายุคสมัยของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วขนาดไหน ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ยังเป็นกำลังสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามและมองข้ามไม่ได้ เพราะพวกเขาคือผู้ที่จะมารับไม้ต่อในการสร้างการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม

หนังสือ ‘The Ocean in a Drop – Inside-out Youth Leadership’ โดย องค์กรปราวาห์ (Pravah) ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในประเทศอินเดีย ร่วมกับ คอมมูนิตี้ เดอะ ยูธ คอลเลคทีฟ (Community The Youth Collective: CYC) และ องค์กรการกุศล ออกซ์แฟม อินเดีย (Oxfam India) นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนจากภายในสู่ภายนอก (Inside-out) ในรูปแบบการพัฒนาแบบเสริมพลัง (empower) ไว้อย่างน่าสนใจว่า

คนรุ่นใหม่/เด็กและเยาวชน เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่และแทบไม่เปลี่ยนแปลงในทุกยุคสมัยเช่นกัน คือ ศักยภาพของเด็กและเยาวชนถูกครอบงำและจำกัดโดยผู้ใหญ่ หนังสือเล่มนี้นำเสนอแนวคิดและให้แนวทางที่ผู้ใหญ่จะช่วยกระตุ้นและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนดึงศักยภาพในตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่อีกครั้งในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

The Ocean in a Drop บอกว่า ครอบครัว เพื่อน การศึกษา/อาชีพ และไลฟ์สไตล์หรือวิถีการใช้ชีวิต เป็นสี่พื้นที่ที่มีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชน แต่ยังมีตัวช่วยเสริมพลังอีกหนึ่งอย่าง เรียกว่า พื้นที่ที่ 5 (the 5th Space)


พื้นที่ที่ 5 (the 5th Space) คือพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่สามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ โดยเชื่อว่าการได้รับโอกาสอย่างเต็มที่ในการเป็นผู้นำ ทดลอง เรียนรู้ ล้มเหลว หรือแม้แต่ทำผิดพลาด เป็นประสบการณ์สำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจตนเองจากภายใน ก่อนออกไปสร้างความสัมพันธ์กับภายนอก (self to society)


กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ทำให้เด็กและเยาวชนได้เห็นผลลัพธ์หรือบทเรียนจากการลงมือทำ เห็นภาพเชื่อมโยงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมากับสังคม แล้วไตร่ตรองการกระทำของตนเองด้วยตัวเอง

ช่วงขณะนี้ หากผู้ใหญ่ทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เด็กและเยาวชนรู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจ คอยสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ และอ้าแขนให้ความช่วยเหลือเมื่อพวกเขาต้องการ ผู้ใหญ่จะได้ใจพวกเขาไปเต็มๆ ไม่ใช่แค่เชื่อฟัง แต่เขาจะให้ความเคารพอย่างเต็มใจ


หน้าตาของพื้นที่ที่ 5 ควรเป็นแบบไหน?

หนึ่ง เป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่เชื่อใจและได้รับความไว้วางใจ (to trust and be trusted) ยิ่งห้าม…ยิ่งปิดบัง ยิ่งกีดกัน…ยิ่งแอบทำลับๆ!! พฤติกรรมต่อต้านสุดขั้วที่มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ใหญ่ตั้งแง่กับการกระทำบางอย่างของพวกเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าควรปล่อยให้คนรุ่นใหม่ทำอะไรตามอำเภอใจ เพราะอย่างที่บอกไปแล้ว องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ แรงสนับสนุน การยอมรับ และการเคารพการตัดสินใจที่ผู้ใหญ่สะท้อนกลับไป แทนการก่นด่า บ่นว่า เสียดสีและตัดสิน เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมและความคิดของพวกเขา

การเปิดใจ สนับสนุนและให้โอกาสเด็กและเยาวชนได้ทดลองเรียนรู้ชีวิต เป็นที่พึ่งยามมีปัญหา และเป็นผู้รับฟังโดยไม่ประกาศความคิดของตัวเองออกไปก่อน เช่น คำพูดเปรียบเทียบทำนองว่า “ตอนฉันอายุเท่าเธอ ฉันทำแบบนี้……….” จะสร้างความเชื่อใจและทำให้พวกเขาเคารพ เพราะเด็กและเยาวชนเองก็ต้องการบอกเล่าและแบ่งปันความคิดหรือความรู้สึกของพวกเขาอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน

สอง เป็นพื้นที่ชีวิต พื้นที่ปลอดภัยที่เด็กและเยาวชนสามารถเป็นตัวของตัวเองที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดได้ โดยปราศจากความกลัว ไม่ว่าจะเป็นการกลัวโดนตำหนิ หรือ กลัวโดนปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า เด็กและเยาวชนไม่น่าเชื่อถือ อ่อนประสบการณ์ บ้าบอ แปลกประหลาดเกินไป หรือดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ (ทั้งที่ยังไม่ได้ทำ) พื้นที่ที่ 5 เป็นพื้นที่ที่แม้มีความเห็นต่าง แต่ควรมีทางเลือก สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมคิด ค้นหาแล้วลองทำก่อน

สาม เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ได้รู้จักกับความหลากหลาย และสร้างความสัมพันธ์กับภายนอก ยกตัวอย่างเช่น ความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อ เป็นต้น และสี่ เป็นพื้นที่ที่มีความสนุกสนานและรื่นรมย์

การสร้างสรรค์พื้นที่ที่ 5 แบบที่ว่ามานี้จะทำให้เด็กและเยาวชนให้คำตอบกับตัวเองได้ว่า “ฉันเป็นใคร?”  – มีศักยภาพและความรับผิดชอบอะไรบ้างที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้


เห็นได้ว่าพื้นที่ที่ 5 ให้ความสำคัญกับปัจจัย 3 ส่วน คือ หนึ่ง ความเข้าใจตนเอง (Understanding the Self) สอง การสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย (Building meaningful relationships) และ สาม การสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคม (Impacting Society) ซึ่งงานอาสาสมัคร (Volunteerism) และการเป็นพลเมืองที่ใส่ใจสังคม (Active Citizenship) เป็นส่วนประกอบหนึ่งของพื้นที่ที่ 5 นี้เช่นกัน



ความเป็นจริงที่ย้อนแย้ง

ในทางปฏิบัติไม่เฉพาะแค่ในสังคมไทย พื้นที่ที่ 5 มักถูกจำกัดจากกรอบและข้อกำหนดของผู้ใหญ่ ทั้งพ่อแม่ โรงเรียนและสังคม เราจึงมักเห็นคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องอิสรภาพ และแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในเชิงลบหรือก้าวร้าวจนน่าตกใจ

แต่โลกออนไลน์ไม่สามารถเป็นพื้นที่ที่ 5 ที่สมบูรณ์แบบได้ หากไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนบนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างแท้จริง

ความอัดอั้นที่ระเบิดออกมานี้มีที่มาจากการไม่ได้รับความไว้วางใจ สิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ได้นึกถึงและมองข้ามไป คือ เด็กและเยาวชนมักถูกผลักออกจากการมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม จนทำให้พวกเขาไม่เข้าใจปัญหา กระทั่งนำมาสู่การเพิกเฉยและไม่สนใจ จุดเปราะบางนี้ทำให้เมื่อมีสถานการณ์มากระตุ้นให้เกิดความสนใจ สิ่งเร้านั้นสามารถสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ทำให้คนแต่ละเจเนอเรชันจูนกันไม่ติด

สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า หนุ่มสาวฮ่องกงเริ่มตระหนักและตื่นตัวเรื่องการเมืองเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยอัตราการลงทะเบียนเลือกตั้งของคนอายุ 18-35 ปี เพิ่มขึ้นจาก 58% ในปี 2000 มาอยู่ที่ 70% ในปี 2016

สถานการณ์ความรุนแรงบนเกาะฮ่องกงช่วงปีที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมชุมชน ถูกจับกว่า 4,000 คน ในจำนวนนี้กว่า 80% เป็นนักเรียนมัธยม อาชีวะ และประถมศึกษา

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ความรุนแรงบานปลายและยืดเยื้อ ผู้ชุมชนได้ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ และมีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น แต่ แคร์รี่ ลัม ผู้บริหารสูงสุด​ฮ่องกง ได้กล่าวปาฐกถา ในการประชุม ​”เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า: ขอบเขตใหม่แห่งการปฏิรูปและเปิดกว้างของจีน แนวปฏิบัติใหม่ของหลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ และเวทีใหม่ของความร่วมมือที่ทุกฝ่ายล้วนได้ประโยชน์” หรือเขต GBA เมื่อ​วันที่ 24 ตุลาคม 2019 ว่า

“เยาวชนคืออนาคตของพวกเรา (Young People are Our Future) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชน​ โดยเฉพาะการยกระดับความสามารถและการเข้าถึงโอกาสและเงินทุน”

สำหรับประเทศอินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นลำดับสองของโลกรองจากจีน ทุกวันนี้มีประชากรกว่าร้อยละ 50 ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี และกว่าร้อยละ 65 เป็นประชากรที่อายุต่ำกว่า 35 ปี จากการสำรวจในปี ค.ศ. 2016 พบว่า คนรุ่นใหม่ของประเทศตกอยู่ในภาวะที่มีความวิตกกังวลสูง โดยร้อยละ 78 ของเด็กและเยาวชน วัย 18-25 ปี มีความกังวลเรื่องอาชีพ และร้อยละ 83 ในวัย 15-17 ปี มีความกังวลด้านการศึกษาตามระบบ ซึ่งความกังวลนี้มีที่มาจากค่านิยมด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพตามแบบแผนที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคม


งานวิจัยพบว่าพื้นที่ที่ 5 ช่วยคลายความกังวลในเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะพื้นที่ที่ 5 เป็นเหมือนการสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกกรอบแบบแผนและค่านิยมเดิม ทำให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างสร้างสรรค์ตามวัย ทั้งการเป็นนักคิด นักลงมือทำ และนักประดิษฐ์ ทำให้พวกเขารู้สึกสนุกสนานขณะเรียนรู้ มีอิสระที่จะเลือกและสร้างสรรค์เส้นทางการเรียนรู้ของตัวเอง บนฐานความคิดที่ว่า การพัฒนาตนเองเป็นก้าวแรกของการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม


การสร้างความรู้และประสบการณ์ด้วยวิธีนี้จะช่วยพัฒนา ภาวะความเป็นผู้นำ ให้กับผู้ปฏิบัติ สร้างเสริมทักษะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม การตัดสินใจ และการรับมือกับความขัดแย้งในเชิงบวก เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย เราเห็นพื้นที่ที่ 5 นี้เกิดขึ้นแล้วกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติเห็นชอบเปิดตัวหลักสูตร “Thammasat Frontier School” หลักสูตรปริญญาตรีแบบใหม่ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนและออกแบบหลักสูตรปริญญาตรีได้ตามเป้าหมายของตัวเอง ไม่สังกัดคณะและไม่ติดกรอบหลักสูตรใดเป็นการเฉพาะในภาคเรียนที่ 1-3 เพื่อค้นหาความชอบและความถนัดเฉพาะตัวบุคคล ถัดจากนั้นในภาคเรียนที่ 4 จะเปิดให้นักศึกษาเลือกคณะที่ชอบและหลักสูตรที่สนใจเพิ่มเติม โดยจะเปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรกในปี 2563



Source:

ThePotential

THE 5TH SPACE: พื้นที่ที่ 5 ที่คนรุ่นใหม่สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้รู้ว่า “ฉันเป็นใคร มีศักยภาพอะไร”

https://thepotential.org/2020/03/04/the-5th-space-new-gen/