คุยคนเดียวไม่ได้แปลว่าบ้า แต่ส่งผลดีต่อการทำงานและสุขภาพจิตมากกว่าที่คิด

Last updated: 11 มิ.ย. 2563  | 

วันที่ 10 มิถุนายน 2563 - 14:40 น.

 

“เอ… วางกุญแจไว้ที่ไหนนะ? บ้าจริง ทำไมเราขี้ลืมแบบนี้ อ๊ะ นี่ไง เจอแล้ว! เรานี่ไม่ไหวเลยนะเนี่ย” พูดคนเดียวอาจแปลได้หลายอย่าง ถ้าไม่เป็นพิธีกร นางเอกละคร ก็เป็นคนเพี้ยน เพราะเมื่อเผลอพึมพำกับตัวเองทีไร คนรอบข้างก็เป็นอันงุนงง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังเป็นบ้าหรอกนะ ในทางตรงกันข้าม การพูดคุยกับตัวเองกลับดีต่อสุขภาพจิตมากกว่าที่คิด

“การพูดกับตัวเองจัดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งจริงๆ แล้วเราพูดกับตัวเองตลอดเวลา เพียงแต่ไม่ได้พูดออกมาดังๆ เท่านั้นเอง” เจสสิกา นิโคโลซี นักจิตวิทยาคลินิกที่นิวยอร์กกล่าว

การพูดคนเดียว หรือ Self-talk เป็นวิธีเดียวกับที่เราหาเพื่อนสักคนที่ไว้ใจได้เพื่อ ‘สะท้อนความคิดและความรู้สึก’ ออกมา พฤติกรรมนี้มักจะเกิดขึ้นตอนที่เราเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง เช่น เวลาโกรธ กังวลใจ หรือตื่นเต้น ซึ่งเป็นความรู้สึกท่วมท้นที่ต้องการการระบายออกมาเป็นคำพูด จึงทำให้เราหรือใครบางคนจู่ๆ ก็พูดโพล่งออกมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เราตื่นเต้นหนักๆ หรือกังวลใจมากๆ เช่น ก่อนพรีเซนต์งานในที่ประชุมหรือก่อนสัมภาษณ์งาน การพูดคุยกับตัวเองอาจช่วยให้เรารู้สึกสงบจิตสงบใจและคลายความเครียดลงได้เป็นอย่างดี หรือในตอนที่เรากำลังเศร้าจัดๆ การได้พูดออกมาก็ถือเป็นการระบายความเจ็บปวดข้างในออกมาได้เช่นกัน

นอกจากนี้การพูดคนเดียวยังเป็นส่วนสำคัญใน ‘พัฒนาการด้านภาษา’ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กที่กำลังหัดเรียนรู้การสื่อสาร เพราะการพูดถือเป็นหนึ่งในการทวนความจำและความรู้ด้านภาษาได้เป็นอย่างดี

ไม่เพียงเท่านั้น การพูดออกมาดังๆ ยังช่วยให้เรา ‘โฟกัส’ กับความคิดของตัวเองมากขึ้น เพราะขณะที่เราพูดออกมา กระบวนการคิดไตร่ตรองหรือการประมวลผลในสมองจะค่อยๆ ช้าลง ส่งผลให้เราทำอะไรได้อย่างรอบคอบและมีความตั้งใจมากยิ่งขึ้น 

ลินดา ซาปาดิน นักจิตวิทยา กล่าวว่าการพูดออกมาดังๆ อาจช่วยให้เป้าหมายที่ตั้งไว้มีแนวโน้มจะสำเร็จมากขึ้น เพราะมันทำให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำ ตอกย้ำข้อความหรือสารที่ได้รับ ควบคุมไม่ให้อารมณ์ไขว้เขว และขจัดสิ่งรบกวนในหัวออกไปได้

แต่ในอีกมุมหนึ่ง Self-talk ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะการพูดคุยกับตัวเองมักผูกโยงกับตัวตนของคนคนนั้น สมมติถ้าเราเป็นคนมองโลกในแง่ดี การพูดคุยกับตัวเองจะได้ผลลัพธ์ในเชิงบวกและสร้างความหวัง ตรงกันข้าม หากเราเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ก็อาจจะทำให้สถานการณ์ขณะนั้นแย่ลงกว่าเดิมด้วยคำพูดที่บั่นทอนจิตใจและตอกย้ำความเศร้า

ดังนั้นเราสามารถนำ Self-talk มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเอง โดยลองทำตาม 3 วิธีง่ายๆ ดังนี้

1. พูดคุยกับตัวเองอย่างใจดี

ในที่นี้คือใช้คำพูดที่มีพลังบวกอย่างการให้กำลังใจหรือปลอบใจ เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่าการพูดในเชิงบวกจะส่งผลดีต่อการทำงานมากกว่าการพูดในเชิงลบ เช่น “ฉันต้องทำได้” “ฉันทำมันเสร็จแน่ๆ” “ไม่เป็นไร เริ่มใหม่ได้” หรืออาจจะเป็นคำพูดกลางๆ ทั่วไปอย่าง “ไหนดูซิ เราทำได้ถึงไหนแล้ว” หรือ “ฉันต้องทำอะไรบ้างนะ” ก็ได้เช่นกัน ซึ่งคำพูดเหล่านี้ก็ส่งผลต่อการรับรู้ความสามารถของตัวเอง ความเชื่อมั่น และ Self-esteem ของตัวเองด้วยเช่นกัน
 
2. พูดให้เกิดผลเชิงรูปธรรม 

การพูดคนเดียวมีประโยชน์ต่อตัวเรามากมาย โดยเราสามารถเห็นผลได้อย่างชัดเจน มีการศึกษาหนึ่งพบว่าการพูดชื่อสิ่งของออกมาดังๆ อาจช่วยให้เราหาสิ่งนั้นๆ เจอเร็วขึ้น และการพูดออกมาขณะอ่านหนังสือจะทำให้ข้อมูลเหล่านั้นย้ายไปอยู่ในความทรงจำระยะยาว (Long-term Memory) ซึ่งช่วยให้เราจดจำเนื้อหานั้นได้เป็นอย่างดี หรือลองใช้การคุยกับตัวเองเพื่อจัดการกับอารมณ์ที่สุดขั้วดู เช่น การพูดระบายออกมาเวลาที่โกรธจัดๆ เศร้า เครียด หรือสับสน ก็จะช่วยให้เราอารมณ์เย็นลงได้
 
3. อย่าลืมที่จะฟังบ้าง 

จริงๆ แล้วการพูดกับตัวเองเกิดจากกระบวนการสองอย่าง นั่นก็คือ ‘การพูด’ และ ‘การฟัง’ ฉะนั้น Self-listening จึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเอง (Self-awareness) ได้ดีขึ้น เพราะการพูดคนเดียวสะท้อนถึงเสียงที่อยู่ในหัวหรือ Inner Voice ของเรา ดังนั้นอย่าลืมตั้งใจฟังสิ่งที่เราพูดออกมาด้วยล่ะ

การพูดกับตัวเองยังถือเป็นการรู้จักพึ่งพาตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เราไม่รู้จะหันไปพูดคุยกับใคร อย่างน้อยก็มีตัวเราที่ช่วยสะท้อนและรับฟัง เพราะฉะนั้นไม่ต้องอายที่จะพูดออกมา ใส่ฟีลลิ่งนางเอกละครเต็มที่เลย…

 

 

 

Source :

The standard

https://thestandard.co/lone-talker-does-not-mean-crazy-but-a-healthy-mental-health/