เทรนด์เทคโนโลยี Disruptive Edtech พลิกโฉมการเรียนรู้แห่งอนาคต

Last updated: 23 มี.ค. 2564  | 

วันที่ 23 มีนาคม 2563 - 10:17 น.


Edtech startups กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ยิ่งในช่วง Covid-19 เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากในภาคการศึกษา ทำให้การศึกษาสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้น นักลงทุนทั่วโลกมีการคาดการณ์ว่า unicorn ต่อ ๆ ไปจะมาจากภาคการศึกษา เพราะนี่คือจังหวะที่คนพร้อมรับการใช้เครื่องมือ digital มากขึ้น การศึกษากำลังถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี การศึกษาไม่ได้ปิดกั้นอยู่แค่ในโรงเรียนอีกต่อไป ทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีผู้คนจำนวนมากที่ต้อง reskill เพื่อเอาตัวรอดจาก digital disruption ที่ปฏิวัติตลาดแรงงาน

ในบทความนี้ จะมาดูกันว่ามีเทรนด์เทคโนโลยีอะไรบ้างที่เข้ามาพลิกโฉมการเรียนรู้ มี Edtech startup อะไรบ้างที่น่าสนใจ และการเรียนรู้แห่งอนาคตจะเป็นเช่นไร?


1. Personalized learning powered by data / AI ปลดล็อคศักยภาพการเรียนรู้

ในระบบการศึกษาคุณครู 1 คนคงไม่สามารถดำเนินการสอนให้ตอบโจทย์ตรงกับระดับทักษะที่แตกต่างกันของนักเรียนแต่ละคนได้ ทำให้เกิดปัญหานักเรียนที่เรียนไม่เก่งก็รู้สึกท้อ เพราะตามไม่ทัน ส่วนนักเรียนที่เข้าใจแล้ว ก็จะรู้สึกว่าคุณครูสอนช้า ไม่ได้พัฒนาทักษะได้อย่างเต็มที่ เป็นข้อจำกัดของประสบการณ์เรียนรู้ในห้องเรียน

จาก pain point นี้ ในบางประเทศได้เริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยี AI มาเป็นผู้ช่วยคุณครู โดยให้นักเรียนเรียนรู้บทเรียนบางส่วนและทำแบบทดสอบผ่านระบบออนไลน์แบบ interactive ซึ่ง AI จะคอยประมวลผล เลือกเนื้อหาที่เหมาะสมกับแต่ละคนมาให้เรียนและทดลองทำ นักเรียนที่เรียนเก่งก็ได้จะได้ content ที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ฝึกฝนทักษะอย่างเข้มข้น ส่วนนักเรียนที่ยังไม่เข้าใจก็จะสามารถฝึกฝนทำไปได้ โดยไม่ต้องกดดัน เริ่มต้นจาก content ง่าย ๆ สร้างแรงบันดาลใจ ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร เป็นการแข่งขันกับตัวเอง

AI ไม่ได้มาทดแทนคุณครู 100% วิธีการนี้ได้เปลี่ยนบทบาทคุณครูจากผู้สอนแบบ one-way มาเป็น facilitator ที่คอยสนับสนุนเด็ก ๆ แต่ละคนในเรื่องที่ติดขัด คุณครูจะมีข้อมูลว่าเด็กคนไหนเก่งเรื่องไหน เรื่องไหนที่ต้องการข้อแนะนำ ช่วยให้คุณครูสามารถดูแลเด็ก ๆ ได้ทั่วถึงมากขึ้น คุณครูยังมีบทบาทที่สำคัญอยู่มากในเรื่องการจัดกิจกรรมเพิ่มเติมส่งเสริมการเรียนรู้ การสร้างความสัมพันธ์ในห้องเรียน และการพัฒนาทักษะ soft skills ให้เด็ก ๆ เป็น human skills ที่ขาดไม่ได้ และ AI ทำไม่ได้

Case study: 17zuoye หนึ่งใน Edtech unicorn จากประเทศจีน

แพลตฟอร์มที่ใช้ AI ในการทำ personlized learning โดยให้คุณครูสั่งการบ้านได้ง่ายให้นักเรียนแต่ละคน มีระบบตรวจการบ้านอัตโนมัติ และสำหรับนักเรียนที่ยังทำไม่ค่อยได้ ระบบจะช่วย suggest ให้เรียนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะ

ตัวอย่างวิชาที่สร้าง impact ได้มากคือวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งบางครั้งคุณครู 1 ท่านต้องดูแลนักเรียนเป็น 100 และนักเรียนหลายคนมีปัญหาเรื่อง pronunciation แต่คุณครูไม่สามารถมาช่วยฝึก 1-1 ทีละคนได้ เมื่อใช้ระบบนี้ทำการบ้าน นักเรียนแต่ละคนสามารถฝึกฝนใน app โดยได้รับ feedback ทันทีได้เลย คุณครูก็สามารถเข้ามาดูข้อมูลการฝึกของนักเรียนแต่ละคนได้ และนำข้อมูลนี้ไปปรับการเรียนการสอนในห้อง


2. Robotics & IoT เสริมทักษะแห่งอนาคต

การเรียนรู้จากแค่หนังสือในหลักสูตรอาจไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะทักษะแห่งอนาคตให้ความสำคัญกับทักษะความคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างเป็นระบบ และการแก้ปัญหา มากกว่าความรู้เชิง technical

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการสอนวิชากลุ่ม STEAM ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยคุณครูให้สามารถก้าวทันกับองค์ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ใช้เทคโนโลยี Robotics & IoT ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากการคิด การลงมือทำจริง โดยจำลองจากสถานการณ์จริง ในอนาคต เทคโนโลยีเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีราคาถูกลง ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น มีการคาดการณ์โดยบริษัทวิจัย Research and Markets ว่าตลาด educational robots จะเติบโตขึ้น CAGR 16%

Case study: LocoRobo เรียนรู้หลากหลายทักษะจากการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์

LocoRobo พัฒนาชุดของเล่นหุ่นยนต์เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสอนให้คุณครู ช่วยให้คุณครูที่แม้จะไม่ได้มี background ด้านคอมพิวเตอร์ก็สามารถสอนหลักการ programming ได้ และสามารถต่อยอดไปประยุกต์สอนเรื่องคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ศิลปะ ดนตรี การอ่าน การออกแบบได้ด้วย ทำให้คุณครูทุกท่านสามารถสอนวิชาใหม่ ๆ ได้ อีกทั้งนักเรียนยังได้ฝึกฝนทักษะผ่านการทำ project ฝึกทำงานกันเป็นทีม ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน การช่วยกันแก้ปัญหา ฝึกทักษะการสื่อสาร พลิกโฉมการเรียนรู้แบบเดิม ๆ

Case study: Ozobot 1-1 Hybrid program for remote learning ช่วยคุณครูดำเนินการสอน STEAM ผ่านออนไลน์ การเรียนแบบลงมือทำไม่ได้จำกัดอยู่แค่แบบออฟไลน์ตัวต่อตัวอีกต่อไป!

Ozobot เป็นผู้พัฒนาหุ่นยนต์และเครื่องมือสำหรับการเรียนการสอน STEAM และ coding สำหรับใช้ในห้องเรียน ในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา ทาง Ozobot ได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ช่วยแก้ pain point คุณครูที่ต้องผันตัวมาสอนออนไลน์ ซึ่งคุณครูส่วนมากเมื่อต้องมาสอนออนไลน์มักจะเจอปัญหาเรื่อง engagement ของเด็ก อีกทั้งเด็กเล็กเองก็ไม่ควรนั่งอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน ทำอย่างไรจึงจะสามารถดำเนินการสอนต่อไปได้แบบไม่ติดขัด?

Ozobot มุ่งสร้างความแตกต่างโดยพัฒนาหลักสูตรวิธีการสอนทางไกลและเกมส์การเรียนรู้ให้คุณครู ผสมผสานการเรียนออนไลน์เข้ากับการลงมือทำจริงจากที่บ้าน โดยมีการส่งตัว robot ไปให้เด็ก ๆ ทดลองทำที่บ้าน และตัว robot จะส่งข้อมูลผ่านทางระบบมาให้คุณครู ทำให้คุณครูสามารถติดตามผลได้ว่าเด็ก ๆ ไปลองทำแล้วเป็นอย่างไรบ้าง สำหรับเด็ก ๆ ที่ไม่มีอุปกรณ์ IT ก็สามารถใช้ได้ หากไม่สะดวกทำกิจกรรมบนคอมพิวเตอร์หรือ tablet ก็สามารถระบายสี วาดรูป บนกระดาษที่เตรียมมาให้แล้วให้หุ่นยนต์อ่านผลก็ทำได้


3. AR/VR พลิกโฉมวิธีการเรียนรู้

Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) เป็นที่รู้จักกันมาในแวดวงสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วตั้งแต่ที่เกมส์ Pokemon Go ได้รับความนิยมทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยม niche เฉพาะกลุ่ม ยังไปไม่ถึง mass adoption และยังไม่ได้มี use case ที่ชัดเจนมากนัก มีการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการศึกษาด้วย

สำหรับในภาคการศึกษาเองก็มีการนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบวิธีการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้มีความ interactive และ immersive มากขึ้น เป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่จำลองสถานการณ์ที่เข้าถึงยากในชีวิตประจำวัน เช่น การทำการทดลองวิทยาศาสตร์ การผ่าตัด การเดินทางไปต่างประเทศ หรือในบริบทของการทำงาน ก็สามารถนำมาใช้ฝึกฝนพนักงานใหม่ในการใช้เครื่องจักร การเทรนพนักงานที่อยู่ต่างสาขา การฝึกซ้อมโต้ตอบกับลูกค้าในสถานการณ์จำลอง

แม้ยังมีอุปสรรคในเรื่องการใช้งานอยู่ แต่ในปี 2020 นี้ เทคโนโลยี AR/VR กลับมาได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Facebook และ Apple ประกาศตัวเข้ามาบุกตลาดนี้ สร้าง ecosystem ใหม่ เปิดโอกาสให้นักพัฒนารายย่อย ในช่วง 3-5 ปีนี้จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าจะรุ่งหรือร่วง หากทำได้สำเร็จ จะเกิดเป็นโอกาสใหม่ ๆ ในตลาด เปิดตลาดใหม่ที่ใหญ่มาก ครอบคลุมหลากหลาย industry เข้าถึงผู้ใช้จำนวนมาก


Case Study:

1. การใช้ Virtual Reality เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน

Titans of Space: VR Application ที่ทำให้นักเรียนสามารถออกไปผจญภัยในอวกาศ เรียนรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของนักบินอวกาศ ซึ่งนอกจากจะทำให้นักเรียนเข้าใจระบบสุริยะมากขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมจินตนาการให้กับนักเรียนมากขึ้นอีกด้วย

Tilt Brush: Application ที่ส่งเสริมจินตนาการของนักออกแบบ โดย VR Application นี้ ทำให้นักเรียนและนักออกแบบสามารถวาดรูป และดีไซน์งานต่าง ๆ ในรูปแบบ 3D

Virtual Medicine: ระบบ VR ที่จะช่วยทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจถึง anatomy และระบบต่างๆในร่างกายในรูปแบบ 3D ทำให้นักศึกษาแพทย์สามารถฝึกผ่าตัดได้ง่ายมากขึ้น


2. Health & Safety and Product Training ในองค์กร

การนำ VR เข้ามาใช้ ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับพนักงาน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน การถูกปล้น หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ บริษัทใหญ่ ๆ อย่างเช่น Verizon ได้มีการนำ VR มาใช้ในการเทรนพนักงานมากกว่า 22,000 คน โดยเห็นผลได้อย่างชัดเจนว่า ความพึงพอใจของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นถึง 10% และ 97% ของพนักงานรู้สึกพร้อมหากต้องพบเจอสถาณการณ์การถูกปล้นในอนาคต

นอกจากนี้ VR ยังสามารถที่จะนำมาใช้ในการเทรนพนักงานในการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ทำให้พนักงานเข้าใจ product ใหม่ ๆ ของ บริษัทมากขึ้น ตัวอย่างเช่น Walmart ที่ได้นำ VR มาใช้ในการเทรน product ใหม่ให้กับพนักงาน โดยลดระยะเวลาในการเทรนมากถึง 96% จากที่เมื่อก่อนใช้เวลาเทรนมากถึง 8 ชั่วโมง เหลือเพียง 15 นาที







SOURCE :

Pat Thitipattakul

https://www.disruptignite.com/blog/disruptive-edtech