“ฉันเคว้งคว้างหลังจบใหม่” Gap Year กับความจำเป็นที่ต้องรีบหางานทำ

Last updated: 17 ก.พ. 2563  | 

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 - 17:06 น.

 

คงเป็นช่วงที่บัณฑิตจบใหม่หลายคนกำลังประสบปัญหากับความรู้สึก ‘เคว้ง’ เพราะในขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ มีงานทำกันไปหมดแล้ว แต่เรายังต้องการเวลาอีกสักปีสองปีเพื่อค้นหาความชอบของตัวเองอยู่เลย การมี ‘แกปเยียร์’ (gap year) หรือช่วงเวลาพักผ่อนหลังเรียนจบ ทำไมถึงทำให้รู้สึกกดดันได้ถึงขนาดนี้กันนะ?



ความเคว้งหลังเรียนจบ (post-graduate blues) นับเป็นอาการปกติที่เด็กจบใหม่ต้องเคยเผชิญ เพราะหลายปีที่ผ่านมาพวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับการเรียนในห้องเรียนมาโดยตลอด เมื่อช่วงเวลานั้นสิ้นสุดลง ถึงเวลาเริ่มต้นเฟสใหม่ของชีวิต—การทำงาน การออกไปเผชิญโลกกว้างแห่งความจริง ซึ่งหลายคนก็คงจะไม่คุ้นชิน หรือนึกไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปดี เลยขอมีช่องว่างให้ตัวเองได้หยุดพักและคิดสักนิด หรือที่เรียกกันว่า ‘แกปเยียร์’

แกปเยียร์เดิมแล้วเป็นแนวคิดที่มาจากวัยรุ่นแถบตะวันตก ที่มักจะใช้เวลาหนึ่งปีหลังจบชั้นมัธยมปลายเพื่อไปค้นหาตัวเอง ก่อนที่เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย โดยออกไปท่องเที่ยวเปิดโลกกว้าง เรียนรู้สิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่วิชาการ ทำงานอาสาสมัครเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ หรือลองไปฝึกทำงานในสายที่อยากจะศึกษาต่อ เพื่อประกอบการตัดสินใจของตัวเองว่าในระดับปริญญาตรีอยากจะไปต่อในเส้นทางไหน

แต่ในประเทศไทย การมีช่วงแกปเยียร์หลังเรียนจบมัธยมปลายยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะเด็กนักเรียนส่วนใหญ่เลือกที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทันที อาจจะด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่กดดัน โดยเฉพาะค่านิยมของสังคม บางคนกลัวเรียนไม่ทันเพื่อน บางคนขี้เกียจตอบคำถามป้าข้างบ้านหรือญาติพี่น้อง บางคนกลัวพ่อแม่ไม่เข้าใจ ดังนั้น แกปเยียร์ของเด็กไทยที่เห็นกันบ่อยๆ จึงเป็นช่วงหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยซะมากกว่า

 

ขอบคุณภาพจาก: thematter.co

 

สถานการณ์การเข้าทำงานของเด็กจบใหม่ตอนนี้ ก็เห็นได้ชัดว่าพวกเขามีแกปเยียร์เกิดขึ้นหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยด้วยหลายๆ สาเหตุ สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยว่า มีเด็กจบใหม่ที่ยังหางานไม่ได้อยู่กว่า 3 แสนคน โดยส่วนใหญ่อยู่ในชั้นระดับอุดมศึกษา ซึ่งปัจจัยหลักๆ ได้แก่ การเลือกงาน ภาษาอังกฤษที่ยังไม่แข็งแรง และลักษณะการทำงานที่ต้องการทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลมากขึ้น

ผู้ใหญ่บางคนอาจมองว่าการเลือกงานของเด็กจบใหม่เป็นความเรื่องมากของวัยรุ่นสมัยนี้ แต่อย่างที่รู้ๆ ว่าเด็ก generation Z เป็นเด็กที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี การเปิดกว้างด้านความคิด และความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่ง่ายดาย ทำให้พวกเขาอยากที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถ้างานไหนที่พวกเขาไม่ชอบ ไม่รัก หรือไม่ให้ความสนใจจริงๆ พวกเขาก็ไม่อยากเสียเวลาอยู่กับมัน เพราะฉะนั้น การออกไปค้นหาตัวเองว่าชอบหรือถนัดอะไร จึงเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และทำให้เกิดแกปเยียร์ขึ้น

รวมไปถึงทักษะบางอย่างที่พวกเขาจำเป็นจะต้องใช้ในการทำงาน แต่ยังไม่มีความมั่นใจมากพอ เช่น ทักษะด้านภาษา หรือทักษะด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พวกเขาก็อยากจะใช้ช่วงแกปเยียร์นี้ไปศึกษาเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้สร้างแฟ้มสะสมผลงานดีๆ พกไปสมัครงานตามบริษัทที่ตัวเองฝันไว้

 

แกปเยียร์ และแกปของแต่ละคน

บทความของเว็บไซต์ Huffington Post เคยอธิบายไว้ว่า ที่เด็กจบใหม่จำเป็นจะต้องหางานทำทันที จนแทบไม่มีเวลาหยุดพักหายใจหรือเฉลิมฉลองหลังเรียนจบ นั่นก็เป็นเพราะว่าปัจจัยด้าน ‘เศรษฐกิจ’ และเงื่อนไขทาง ‘สังคม’ ที่บีบบังคับอยู่

เนื่องจากต้นทุนของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน จึงทำให้ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถมีแกปเยียร์ได้ โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่ทางบ้านมีปัญหาด้านการเงิน หรือพ่อแม่ไม่ส่งเงินให้ใช้หลังเรียนจบ พวกเขาก็จะต้องรีบดีดตัวเองขึ้นมาเร็วกว่าใครเพื่อน แถมการหยุดพักไปใช้เวลาค้นหาตัวเองเป็นปีๆ นั้น ก็จำเป็นจะต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยเฉพาะสำหรับใครที่อยากไปหาประสบการณ์ที่ต่างประเทศ ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าอยู่ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการลงทุนทั้งนั้น หรือแม้แต่การอยู่เฉยๆ พักผ่อนที่บ้านเองก็ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ เช่นกัน เมื่อนำไปเทียบกับรายรับที่ยังไม่มีเข้ามาเลยแม้แต่บาทเดียว


ขอบคุณภาพจาก: thematter.co



แต่สำหรับใครที่ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ความเคว้งหรือแกปเยียร์อาจเกิดขึ้นจากการที่ยังหาความชอบหรือความสนใจของตัวเองไม่เจอ และเมื่อเจอความกดดันจากคนรอบข้างและตัวเอง จึงทำให้พวกเขารู้สึกว่าจะต้องรีบหางานทำเหมือนคนอื่นให้ได้ โดยที่ตัวเองยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าอยากทำอะไรหรือถนัดด้านไหน ซึ่งนำไปสู่การย้ายงานใหม่ไปเรื่อยๆ

“จริงๆ คนรอบตัวทำให้เรากดดันตัวเองแบบไม่รู้ตัว เพราะเราแคร์คนรอบข้างมากกว่าตัวเอง คิดแทนพ่อแม่ในบางที แล้วด้วยความที่เคยยึดคติที่ว่า ‘ทำอะไรก็ได้ ทำไปก่อน ไม่ชอบค่อยหาใหม่’ แต่ใครจะไปรู้ว่าชุดความคิดนี้มันผิด โคตรจะผิด และผลลัพธ์ของมันก็รุนแรง เพราะการไปอยู่ผิดที่ผิดทางมันทำให้ความสามารถของเราไม่ถูกพัฒนาสักที ยิ่งเดินเข้าไปยิ่งลึก และทางออกเดียวก็คือการลาออก” คำพูดจากบัณฑิตหญิงจบใหม่คนหนึ่ง ซึ่งเธอเคยผ่านประสบการณ์การรีบหางานทำหลังเรียนจบใหม่ๆ และก็ค้นพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบและถนัดในด้านนี้

“พ่อกับแม่ไม่ได้เร่งให้หางานทำเท่าไหร่ พักไว้ก่อนได้ พร้อมเมื่อไหร่ก็ค่อยทำ แต่กลับรู้สึกละอายเฉยๆ ที่ว่า อายุขนาดนี้แล้วแต่ทำไมยังอยู่กับพ่อแม่ และรู้สึกแย่ทุกครั้งที่มีคนมาถามว่า ทำงานอะไร? เพราะก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอะไรดี อีกอย่าง บรรยากาศรอบข้างอย่างเพื่อนฝูง คนรู้จัก เขาก็เริ่มทำงานกันหมดแล้ว ก็เลยมองตัวเองว่าแล้วจะทำอะไรดี? กลายเป็นว่าไม่มีใครมากดดัน แต่เรากดดันตัวเองแทน” บัณฑิตชายจบใหม่คนหนึ่งที่ยังว่างงานอยู่ กล่าว

แกปเยียร์จึงทำให้เห็นว่าช่วงเวลาในการหยุดพักของเด็กจบใหม่แต่ละคนมีมากน้อยไม่เท่ากัน ดังนั้น ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับแกปเยียร์ จึงได้มีโครงการอาสาสมัครเกิดขึ้นมากมาย เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีโอกาสค้นหาตัวเองมากขึ้น โดยที่ได้รับค่าตอบแทนไปพร้อมๆ กับการทำงาน และในหลายมหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้นักศึกษาที่สมัครเข้าเรียนแล้ว หยุดไปมีแกปเยียร์ได้โดยที่ไม่ต้องดรอปเรียน

กลับมาที่ประเทศไทย ด้วยความที่นักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ได้ ถือเป็นค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ ปลายปี พ.ศ.2562 กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จึงทุ่มงบสร้างโครงการ ‘ยุวชนสร้างชาติ’ ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้บัณฑิตจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำไปเป็น ‘บัณฑิตอาสา’ โดยจะได้รับงานเดือน 15,000 บาท แลกกับการทำงานร่วมกับชาวบ้านเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งนโยบายนี้ก็ได้คาดหวังไว้ว่าจะช่วยลดการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่ไปได้ 10% และอาจเป็นโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ความชอบตัวเองในขณะที่ยังหางานทำไม่ได้อีกด้วย

 

ค่อยไปอย่างช้าๆ อย่ากังวล

เราอาจจะมองว่าเด็กจบใหม่ที่ยังไม่หางานทำในตอนนี้ เป็นคนที่เริ่มต้นชีวิตช้ากว่าใครเพื่อน แต่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นความช้าที่ชัวร์ เพราะช่วงเวลาที่พวกเขาเสียไป ได้นำมาสู่ ‘บางอย่าง’ ที่ตอบคำถามและความต้องการของพวกเขาได้ ก่อนจะลงสู่สนามจริงอย่างมั่นคงในอนาคต


ขอบคุณภาพจาก: thematter.co


“ก็แอบเคว้งเพราะมันยังไม่มีงานทำ และไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรือมีความสุขกับอะไร แต่พอไปเที่ยวหลังเรียนจบ มันรู้สึกเหมือนไม่มีภาระในห้องเรียนแล้ว เหมือนได้ปลดปล่อยจากสถานที่เดิมๆ ผู้คนเดิมๆ ไปเจอสิ่งใหม่ๆ ที่รู้สึกว่าระหว่างเรียนไม่มีโอกาสได้เห็นหรือได้ทำ มันทำให้รู้สึกว่าเราโตขึ้นมาอีกระดับ เหมือนมันเก็บกดมาจากวัฒนธรรม ประเพณี และสังคมไทยเราด้วย ที่เราจะคิดหรือทำอะไรมันไม่ค่อยอิสระสักเท่าไหร่ การได้ออกไปเที่ยวมันได้เห็นว่า เห้ย บนโลกใบนี้มันมีอะไรแบบนี้ด้วยหรอ และมันทำให้เราเหมือนค่อยๆ เจอสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง” บัณฑิตจบใหม่คนหนึ่งเล่าความรู้สึกจากการไปท่องโลกหลังเรียนจบให้ฟัง

“มันดีนะ มันทำให้เราเจอตัวเองอีกแบบที่ไม่คิดว่าจะเป็นได้ แล้วก็ทำให้เรามั่นใจว่าเราทำงานอะไรก็ได้แล้วในตอนนี้ เพราะเหมือนได้ทบทวนชีวิตตัวเอง ได้พัก แล้วพอหันกลับมามองชีวิตเพื่อนที่ทำงานกัน ก็อดคิดถึงชีวิตแบบนั้นไม่ได้ อยากได้ออกไปเจอผู้คนใหม่ๆ ได้เรียนรู้อะไรอย่างลึกซึ้ง เลยอยากออกไปทำงานแล้ว” บัณฑิตจบใหม่อีกคนที่เพิ่งผ่านการใช้เวลาช่วงแกปเยียร์ กล่าว


การจะมีแกปเยียร์หรือไม่ หรือมีได้นานแค่ไหนนั้น ก็คงจะขึ้นอยู่กับต้นทุน เงื่อนไข และปัจจัยของแต่ละคน หรือถ้ายังไม่พร้อมที่จะเริ่มทำงานจริงๆ ก็ไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกแย่กับตัวเองมากนัก เพราะแม้แต่จังหวะก้าวของคนเรายังไม่เท่ากัน จะให้จังหวะชีวิตดำเนินไปอย่างพร้อมๆ กันก็คงจะไม่ได้

 

Source: https://thematter.co/social/education/gap-year-after-graduation/91270