สอนเด็กฟังเสียงหัวใจ ฝึกแยกความคิดลบกับบวก

Last updated: 6 มี.ค. 2563  | 

วันที่ 06 มีนาคม 2563 - 13:12 น.


ในตำนานของชาวอินเดียนแดงเผ่าเชโรกีที่เลื่องลือมาช้านาน มีเรื่องหนึ่งเล่าถึงคุณปู่ชราผู้สอนหลานชายถึงการใช้ชีวิตเอาไว้ว่า ในตัวเราทุกคนมีหมาป่าอยู่ด้วยกันสองตัวซึ่งต่างฝ่ายต่างต่อสู้กันและกันอยู่ตลอดเวลา ตัวหนึ่งเป็นหมาป่าตัวร้าย ขี้ขลาด ทะนงตัว อวดดี และเพ้อเจ้อ กับอีกตัวหนึ่งเป็นหมาป่าที่กล้าหาญ มุมานะ พยายาม และเข้มแข็ง เด็กชายจึงเอ่ยถามปู่ด้วยความอยากรู้ว่าสุดท้ายแล้วตัวไหนเป็นฝ่ายชนะ

ปู่ยิ้มแล้วตอบเขาว่า ‘แล้วหมาป่าตัวไหนที่หลานอยากเลี้ยงเอาไว้ล่ะ’

หมาป่าสองตัวนี้เปรียบได้กับ Fixed Mindset และ Growth Mindset ที่อยู่ภายในใจทุกคนนั่นเอง ต่างขั้วต่างตอบโต้กันตลอดเวลา Growth Mindset มักยินดีกับตัวเองเมื่อทำงานยากลำบากลุล่วง อาจเป็นเสียงว่า ‘ในที่สุดฉันก็ทำมันสำเร็จจนได้!’ ส่วน Fixed Mindset จะส่งเสียงบั่นทอนกลับมาทันทีว่า ‘นี่คิดว่าดีพอแล้วเหรอ?’ เสียงสองขั้ว หนึ่งนางฟ้ากับหนึ่งซาตาน ส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจให้เราพยายามต่อหรือล้มเลิกบางอย่างอยู่ตลอดเวลา

ในชั้นเรียน ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการแนะนำให้นักเรียนรู้จักกับหมาป่าทั้งสองตัวในใจตัวเองเสียก่อน และรู้จักแยกแยะให้ออกระหว่างเสียงที่บอกให้เขาพยายาม กล้าลองเพื่อเรียนรู้ สัมผัสกับเรื่องท้าทาย ออกจากเสียงที่คอยบั่นทอนกำลังใจและขัดขวางไม่ให้เขาก้าวต่อ โดยวางจุดประสงค์ของการสอนสร้าง Growth Mindset ที่การฝึกให้เขาฟังเสียงในใจตนเองที่อยากฮึดสู้ พยายามดูสักตั้ง

บทความนี้ไม่เพียงมีไอเดียวิธีต่างๆ ให้นักเรียนฝึกแยกแยะเสียงขั้วบวกขั้วลบและหัดเพิ่มพลังเสียงด้านบวกในใจตนเอง ยังมีไกด์ไลน์แผนการสอน Growth Mindset ที่สรุปง่ายๆ เป็นขั้นเป็นตอนให้ครูนำไปปรับใช้ได้ทันทีอีกด้วย

ฝึกคุยกับตัวเองและเลือกที่จะฟังเสียงที่ส่งพลังใจ
นักจิตวิทยาพบว่าเสียงที่มาจากใจของแต่ละคนมีอิทธิพลต่อความความสำเร็จหรือล้มเหลว เลฟ ไวกอตสกี (Lev Vygotsky) นักจิตวิทยาชาวรัสเซียที่สร้างชื่อช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบจากทฤษฎีว่าด้วยอิทธิพลทางจิตวิทยาต่อวัฒนธรรมและสังคม ได้พูดถึง ‘Self Talk’ ของเด็กวัยเตาะแตะ หรือการที่พวกเขาสนทนากับตัวเองว่าเป็น ‘การเล่าความคิดในหัว’

ถ้าลองสังเกตเด็กวัยกำลังซนเล่นอยู่คนเดียวเราจะได้ยินเขาเล่าเรื่องสนุกรอบตัวกับตัวเอง ไวกอตสกีมองว่าการพูดกับตัวเอง คือ วิธีที่เด็กทำความเข้าใจกับโลกรอบตัว ต่อมาคำพูดที่พึมพำกับตัวเองเหล่านั้นก็จะกลายเป็นห้วงความคิดความอ่าน ช่วยเรียบเรียงกระแสความคิด ยับยั้งการกระทำ และพัฒนาเป็นสติรับรู้เข้าใจตัวเอง (Self-Awareness) ในระหว่างห้วงเวลาเปลี่ยนผ่าน


ผู้ใหญ่จึงควรชี้ให้เขารับรู้ถึงการมีอยู่และฟังเสียงในใจตัวเองให้เป็น บอกเขาว่าทุกคนต่างมีเสียงความคิดภายในใจที่คอยบอกให้เราตัดสินใจทำสิ่งนั้นสิ่งนี้หรือเลิกทำบางอย่างนั้นเป็นเรื่องปกติ เวลาหนูน้อยมาสารภาพว่าแอบกินขนมในตู้เย็นโดยไม่ขออนุญาต เผลอตีเพื่อนที่มาแย่งของเล่น ลองตอบเขาด้วยการอธิบายถึงเสียงภายในดู เช่น ‘ที่หนูมาสารภาพ เพราะเสียงในใจของหนูบอกว่าหนูกำลังทำผิดและอยากขอโทษใช่มั้ยจ๊ะ’


ที่เราพูดถึง Self Talk กัน เพราะสำหรับครูนั้นการที่เด็กได้ยินเสียงจากความคิดตัวเองเกี่ยวพันเป็นอย่างมากกับการวางแผนจัดระเบียบ Growth Mindset ให้เขา ครูต้องช่วยให้เขาแยกแยะระหว่างเสียงที่เป็นตัวบั่นทอนกับเสียงที่ชูกำลังใจให้ออกก่อน พอเขาเข้าใจแล้วว่าเสียงที่ได้ยินมาจากฝั่งไหน ค่อยอธิบายอีกทีว่าเสียงจากความคิดที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและยืดหยุ่นกับปัญหา (Growth Mindset) จะพาเขาไปที่ไหนและความคิดติดลบที่ฉุดรั้งความกล้า กล่าวโทษตัวเองโดยไม่พยายาม (Fixed Mindset) จะลงเอยอย่างไร

วิธีช่วยให้เขาแยกแยะว่าเสียงในหัวมาจากฝั่งไหนคือลองถามเด็กๆ ว่า เวลาพวกเขาเครียดวิตกกังวลหรือท้อถอยกับบางอย่างเขา ‘ได้ยิน’ เสียงในใจตัวเองพูดว่าอะไร ง่ายๆ เลยคือลองยกตัวอย่างประสบการณ์ตรงของตัวเองให้เขาฟัง

เช่น ตอนครูอยู่ชั้นมัธยมมีแข่งเทนนิสแมตซ์ชิงชนะเลิศ คู่แข่งคนนั้นเป็นมือวางอันดับหนึ่งของรัฐ ตัวก็ใหญ่กว่า สถิติก็ดีกว่า ครูได้ยินเสียงจาก Fixed Mindset บอกว่า

“จะไหวเหรอ ฝ่ายนั้นเขาตัวใหญ่กว่าแล้วก็ตีแรงกว่าเธออีกนะ”

“อย่าหวังว่าจะชนะเขาได้เลย”

“ยอมแพ้ก่อนจะอับอายดีกว่า”

“ถ้าแพ้ละก็ร้องไห้ยับเยินแน่เลย”

ให้นักเรียนช่วยกันคิดว่าพวกเขาจะตอบเสียงความคิดลบจาก Fixed Mindset ด้วยเสียงที่เป็น Growth Mindset อย่างไรดี เขียน T-Chart ขึ้นกระดานให้ฝั่งซ้ายเป็นเสียงจาก Fixed Mindset แล้วให้เด็กๆ ช่วยกันตอบ


ขอบคุณภาพจาก: thepotential.org


เมื่อนักเรียนแยกแยะและเข้าใจความคิดสองขั้วนี้ดีแล้ว ให้เขาจับกลุ่มทำ T-Chart ว่าในช่วงปิดเทอมหรือวันหยุดนี้ มีเสียงจาก Fixed Mindset ที่คอยขัดขวางไม่ให้เขาทำอะไรที่ตั้งใจไว้บ้าง พวกเขาจะใช้ Growth Mindset ตอบโต้เสียงนั้นว่าอย่างไร


ขอบคุณภาพจาก: thepotential.org


ตั้งชื่อให้ความคิดฝั่งผู้ร้าย

บียอนเซ่เคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า เธอเอาชนะตัวตนที่เป็นคนขี้อายแล้วสร้างบุคลิกมั่นใจ กล้าแสดงออกทุกครั้งเมื่อต้องออกไปแสดงบนเวที โดยตั้งชื่อบุคลิกร้อนแรงมั่นใจของตัวเองนี้ว่าซาช่า เฟียส (Sasha Fierce)

การตั้งชื่อเป็นเคล็ดลับหนึ่งสำหรับคนที่สลัดความคิดฝั่ง Fixed Mindset ไม่หลุด ลองตั้งชื่อเจ้าตัวความคิดหรือบุคลิกแบบที่บียอนเซ่ทำเพื่อจัดการตนเองคือวิธีที่ควบคุมตัวเองที่ดี ให้เด็กๆ ตั้งชื่อความคิดหรือบุคลิกที่ขัดขวางความสำเร็จของตัวเขาเอง โดยช่วยกันออกไอเดียชื่อตลกๆ ยิ่งทำให้ชั้นเรียน Growth Mindset ของเราสนุกสนานยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น

ศิริพรฝ่ายตัวร้าย

เจ้าความคิดขัดลาภ 

เจ้าตัวขี้เกียจ

เมื่อเลือกชื่อตลกๆ ให้ Fixed Mindset ตัวเองได้แล้ว ต่อไปนี้ให้เขาเรียกความคิดฝั่งลบนั่นทุกครั้งด้วยชื่อที่เขาตั้ง สนับสนุนให้เขากล้าพูดกับตัวเองทุกเมื่อที่ความคิดฝั่งลบผุดขึ้นมาบั่นทอนกำลังใจ “เจ้าความคิดขัดลาภชอบบอกให้หนูล้มเลิกอยู่เรื่อยเลย” หรือ “หยุดเลยนะ ศิริพรฝ่ายตัวร้าย ฉันไม่ฟังเสียงเธอหรอก”

อย่าคิดว่านี่เป็นเรื่องตลกขบขัน เพราะขนาดแครอล ดเวค (Carol Dweck) อาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำการศึกษาเรื่องอิทธิพลของ Growth Mindset ที่มีผลต่อความสำเร็จในบุคคลยังเห็นพ้องว่าการตั้งชื่อความคิดด้านลบในหัวเรานี้เป็นการสื่อสารกับตัวเองที่ได้ผลทางหนึ่ง คล้ายกับการที่เราสอนเด็กๆ ให้กล้าเอ่ยปากปฏิเสธเพื่อนที่เล่นแรงๆ หรือพูดร้ายๆ กับเราให้เขาหยุด ต่างตรงที่คราวนี้เพื่อนที่บอกให้หยุดคือเสียงด้านลบที่ดังมาจากใจของเขาเอง

ในช่วงแรกนักเรียนอาจรู้สึกตลกหรือหวั่นใจที่จะตอบโต้เสียงในใจที่บอกว่าเขาไม่เก่งพอหรือทำไม่ได้หรอก ดเวคแนะนำว่า จะให้ดีควรฝึกให้เด็กๆ ยึดคำปลุกใจเป็นสโลแกนประจำตัวไว้คนละอย่างสองอย่าง เช่น ‘หนูทำได้!’ หรือ ‘ยิ่งยาก ฉันยิ่งพัฒนา’ เพราะเขาจะหยิบมันขึ้นมาใช้ในยามที่ต้องการได้ทุกเมื่อ

นอกจากการตั้งชื่อเจ้าความคิดลบหรือ Fixed Mindset ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่ครูสามารถนำไปกระตุ้นให้เด็กๆขุนความคิดฝั่ง Growth Mindset ให้แข็งแรงดังนี้


วิธีสร้าง Growth Mindset ในชั้นเรียนขั้นตอน
ตั้งชื่อให้ Fixed Mindsetให้เด็กๆ ตั้งชื่อให้ Fixed Mindset เมื่อเสียงจในหัวฉุดรั้งให้เขาท้อแท้หรือกล่าวโทษตัวเอง “เลิกซะเถอะ พยายามไปก็เท่านั้น” ให้เด็กๆ พูดกับเจ้าความคิดนั้นว่า “อย่ามาขวางฉันซะให้ยาก ฉันทำได้” กลับไป
เล่นติ๊ต่างเป็น Mindset สองขั้วให้เด็กๆ แบ่งฝ่ายเป็นฝั่ง Fixed Mindset และ Growth Mindset ฝั่งแรกพูดด้วยประโยคลบเช่น “ที่เธอทำไม่ได้เพราะเธอไม่มีหัวทางเลข” อีกฝั่งต้องแก้ให้เป็นความคิดบวกคือ “ฉันยังไม่เก่งน่ะใช่ แต่ถ้าฝึกทำบ่อยๆ ฉันเก่งขึ้นแน่” แล้วสลับฝั่งกัน
เพื่อนช่วยเพื่อนให้นักเรียนในชั้นร่วมกันกล่าวปฏิญาณตนว่าจะให้ช่วยกันต่อสู้ Fixed Mindset ที่เข้ามาในหัว เวลาเพื่อนคนใดท้อแท้หรือคิดลบกับตัวเอง ทุกคนจะพูดให้กำลังใจกันและกันเสมอ
วาดรูปหน้าตาเจ้า Fixed Mindsetให้เด็กๆ ช่วยกันนิยาม Fixed Mindset ด้วยคำศัพท์หรือวาดหน้าตา Fixed Mindset ตามจินตนาการว่าเป็นอย่างไร นี่จะช่วยฝึกให้เด็กๆสามารถแยกแยะความคิดในใจและควบคุมตนเองได้
คิดคติพจน์ประจำใจมีงานวิจัยชี้ว่านักกีฬาที่มีคติประจำใจมักสามารถพลิกสถานการณ์แข่งขันเมื่อเพลี่ยงพล้ำให้กลับมาเอาชนะได้ เช่นเดียวกัน หากนักเรียนเกิดท้อถอยในการเรียน คติประจำใจที่เขาชอบสามารถช่วยให้เขากลับมาฮึดสู้ได้อีกครั้ง เช่น “Just Do It!”
เขียนจดหมายถึงเจ้าความคิดฝั่ง Fixed Mindsetสมมติให้นักเรียนเป็นตัวความคิดฝั่ง Growth Mindset และเขียนจดหมายถึงเจ้าความคิดฝั่ง Fixed Mindset ของตัวเองว่าจะลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเองตรงไหน และพยายามอย่างไร



วางแผนการสอน Growth Mindset แบบจับต้องได้

ในบทสุดท้ายของหนังสือ Mindset ที่ดเวคเป็นผู้เขียนได้แนะนำครูผู้สอนว่า ควรวางแผนการเรียนการสอนที่กระตุ้น Growth Mindset ให้เป็นรูปธรรมมากที่สุดก่อนลงมือสอนจริง เพราะในชั้นเรียนอาจมีสถานการณ์คาดไม่ถึง เช่น นักเรียนไม่ให้ความร่วมมืออย่างที่ตั้งใจ หรือเกิดการเข้าใจผิดในเนื้อหาที่สอนขึ้นได้เสมอ

วิธีหนึ่งที่เราอยากชี้ชวนให้คุณครูลองดู คือ การฝึกให้เขาริเริ่มที่จะวางแผนในการทำกิจกรรมหรือบางสิ่งบางอย่างที่สนใจ เป็นการบ้านช่วงวันหยุดหรือการบ้านประจำสัปดาห์ก็ได้ เช่น ไปเรียนว่ายน้ำ ฝึกทำกับข้าว เล่นหมากรุก เป็นต้น โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาและกระตุ้นให้เขาคิดวางแผนรับมือกับปัญหาที่อาจพบระหว่างทางด้วยการใช้ Growth Mindset ให้มากที่สุด

ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กๆ วางแผนและจัดระเบียบความคิดฝั่ง Growth Mindset เห็นภาพชัดเจน คุณครูควรมีแผ่นไกด์ไลน์ดังตัวอย่างด้านล่างนี้ให้พวกเขาเติมแผนการที่ตั้งใจว่าจะเรียนรู้และต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคอย่างไรล่วงหน้า


ตั้งเป้าเรียนรู้

ฉันอยาก เป่าขลุ่ย ให้ได้ภายใน ปิดเทอมนี้

ฉันสามารถค้นคว้าข้อมูลเรื่องนี้ได้จาก อาจารย์ดำเนินที่สอนดนตรีไทย และยูทูป

วิธีการที่ฉันจะลงมือเพื่อทำให้สำเร็จคือ ซ้อมเป่าขลุ่ยทุกวัน วันละหนึ่งชั่วโมง สมัครเข้าชมรมดนตรีไทย และเล่นกับวงโรงเรียน

อุปสรรคที่ขัดขวางฉันคือ เวลาน้อย ช่วงปิดเทอมต้องช่วยที่บ้านขายของและเลี้ยงน้อง เสียงขลุ่ยอาจรบกวนครอบครัวและเพื่อนบ้าน

ฉันจะขจัดอุปสรรคออกไปโดย จัดตารางเวลา ฝึกช่วง 9.00-10.00 เวลาเพื่อนบ้านไปทำงานแล้ว  ลูกค้าน้อย

ถ้าไม่เป็นไปตามคาดหรือผิดพลาด ฉันจะ ขอเวลาพ่อฝึกเป็นกิจจะลักษณะ และฝึกตามตารางเคร่งครัด

เจ้าความคิดฝ่ายอธรรมในใจฉันอาจพูดว่า ถ้ามันยากนัก ก็เลิกเป่าขลุ่ยเถอะ

ความคิดฝ่ายธรรมะในใจฉันจะตอบกลับไปว่า อุปสรรคแค่นี้จิ๊บจ๊อย แค่ฝึกบ่อยๆ เดี๋ยวเธอจะเก่งขึ้นเอง

ผลลัพธ์รูปธรรมที่แสดงว่าฉันเติบโตและเรียนรู้จากประสบการณ์นี้คือ 1.โน้ตพื้นฐาน  2. เล่นเพลงจบสองเพลง  3. ปล่อยคลิปตัวเองเป่าขลุ่ยลงยูทูป



วางแผนรับมือปัญหา

ปัญหาที่เจอระหว่างการฝึกคือ ฉันอ่านภาษาอังกฤษไม่แข็งเพราะเรียนช้ากว่าเพื่อน

ปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไขภายใน ปีการศึกษาหน้า

ฉันจะหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาได้จาก ให้ครูช่วยหาบทความที่เหมาะกับระดับความเข้าใจของฉัน ให้ครู เพื่อน และที่บ้านช่วยติว และอ่านบทความในอินเตอร์เนทเยอะๆ

ฉันจะแก้ปัญหาโดย ให้ครูช่วยวัดประเมินการอ่านว่าภายในหนึ่งเทอม ฉันพัฒนาขึ้นมากน้อยแค่ไหน และฉันจะฝึกอ่านทุกวัน

อุปสรรคคือ ฉันอาจขี้เกียจเป็นบางวัน หรืออ่านบางคำไม่ได้

ฉันจะขจัดอุปสรรคโดย ให้กำลังใจตัวเองบ่อยๆ หาบทความหรือหนังสือภาษาอังกฤษในเรื่องที่สนใจมาอ่านจะได้ไม่เบื่อ เช่น  แฮรี่พอตเตอร์

ถ้าแผนที่วางไม่สำเร็จ ฉันจะ ให้ครูช่วยหาวิธีอื่น

Fixed Mindset อาจพูดว่า ไม่เห็นเป็นไรเลย มีคนที่โง่กว่าเราในห้องอีก

Growth Mindset จะตอบว่า ฉันอยากอ่านให้เก่งเพื่ออ่านหนังสือหลากหลาย และยิ่งอ่านเยอะๆ บ่อยๆ ฉันก็จะอ่านได้คล่องเอง

ผลลัพธ์ที่แสดงว่าฉันพัฒนามากขึ้นคือ 1.ฉันอ่านภาษาอังกฤษและเข้าใจ 2.ฉันอ่านบทความหรือหนังสือได้โดยไม่ต้องเปิดดิคทุกคำ  3. คะแนนการอ่านเพิ่มขึ้นในเทอมหน้า 



อะไรเป็นชนวนที่จุดให้ Fixed Mindset ปะทุขึ้น

เมื่อแผนการสอนตั้งเป้าหลักไปที่การส่งเสริมให้นักเรียนใช้ความคิดฝั่ง Growth Mindset เป็นนิสัย ครูเองก็ต้องชี้ให้ผู้เรียนเห็นด้วยว่าพฤติกรรมแบบไหนหรือสถานการณ์แบบใดที่เป็นชนวนให้ Fixed Mindset ในหัวของพวกเขาทำงาน

ตัวอย่างสถานการณ์ที่จะทำให้ Fixed Mindset ระเบิดอานุภาพทำลายล้างความมุ่งมั่นตั้งใจให้กลายเป็นฝุ่นผง เช่น เวลาเด็กๆ กำลังอารมณ์ไม่ดีหรือโมโหกับบางเรื่องอยู่จนพาลหมดกะจิตกะใจ หรือเมื่อกดดันตัวเองมากไปจนอ่อนล้า หรือเมื่อไม่อยากไปเรียนเพราะทะเลาะกับเพื่อน เป็นต้น เมื่อยกตัวอย่างชนวนที่ทำให้เกิดความรู้สึกลบและท้อแท้เหล่านี้ให้พวกเขารู้แต่เนิ่นๆ เวลาเกิดขึ้นจริงพวกเขาจะเข้าใจและจัดการมันได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

ยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ ในชั้นเรียน Growth Mindset ที่สำคัญด้วย เช่น บรรยากาศการเรียนการสอนที่ครูต้องสนับสนุนให้กล้าคิดกล้าผิด กับเสริมแบบฝึกหัดและโจทย์ปัญหาที่ยาก ท้าทายความสามารถนักเรียนให้มากพอ นอกจากนี้ ครูต้องลดคุณค่าความสำคัญของวัฒนธรรมการเอ่ยชมตัวบุคคล (ประเภท ‘ฉลาดจังเลย’ ‘เก่งมาก’ ‘หัวดีนี่นา’) และการวัดผลสำเร็จด้วยคะแนนเพียงอย่างเดียว

อีกทั้งต้องเข้าใจด้วยว่าตามธรรมชาติของจิตใจ ไม่มีใครหยุดความคิดด้านลบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น Fixed Mindset จึงไม่ใช่สิ่งต้องห้ามในห้องเรียน ทำการตกลงกันว่าถ้าเด็กๆ หรือแม้แต่ครูเองเผลอพูดตามเสียงจากฝั่งลบนี้ เราจะพยายามช่วยกันและกันควบคุมมันให้ได้มากที่สุด

ทั้งหมดนี้ ปลายทางความสำเร็จอาจไม่สำคัญเท่ากับความทุ่มเทพยายามที่มีแผนรองรับอย่างรอบคอบในการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างทางเพื่อสร้างนิสัยให้ตัวเองไม่ล้มเลิกกับสิ่งใดง่ายๆ ขอยกคำกล่าวของดเวคที่ฝากถึงคุณครูผู้มีภารกิจติดตั้งอาวุธชุดนี้ให้กับสมองเด็กๆอยู่ในมือว่า “การจะสอนให้เด็กมี Growth Mindset นั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยการพูดให้ฟัง แต่ต้องให้เขาลงมือปฏิบัติจนเข้าใจและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด”



Source:

ThePotential

สอนเด็กฟังเสียงหัวใจ ฝึกแยกความคิดลบกับบวก

https://thepotential.org/2020/03/02/growth-mindset-coach-2/