Study from home ยังไง ถ้าไม่มีเน็ต? เมื่อ COVID-19 ทำให้ยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

Last updated: 7 เม.ย 2563  | 

วันที่ 7 เมษายน 2563 - 15:46 น.


เรียนที่บ้าน ไม่ต้องเดินทาง แค่เข้าระบบออนไลน์ ก็เรียนได้แล้ว สบายๆ  .. จริงเหรอ? แวดวงการศึกษาเอง ก็เป็นอีกวงการหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อเหล่านิสิต นักศึกษา ต้องพากัน ‘study from home’ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ตามประกาศที่รัฐบาลสั่งปิดไปเมื่อเดือนก่อน

แต่ทุกคนสามารถเรียนออนไลน์ได้จริงเหรอ? ในเมื่อบ้านไม่ใช่ห้องเรียน และอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน วันนี้ขอพาทุกคนมาร่วมกันทำความเข้าใจ ถึงปัญหาและผลกระทบของการเรียนทางไกล เมื่อโรคระบาดทำให้ห้องเรียน ต้องย้ายไปอยู่ในระบบออนไลน์แทน


ห้องเรียนออนไลน์ไม่ใช่ที่สำหรับทุกคน

“คอลคุยงานกับเพื่อนอยู่ดีๆ เน็ตก็หายไปเลย”

คำบอกเล่าจากนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถึงปัญหาที่ตัวเองต้องพบเจอ หลังจาก COVID-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก จนมหาวิทยาลัยประกาศให้นักศึกษาเรียนที่บ้าน

“ที่บ้านยังมีพี่สาวอีก 2 คน เขาทำงานที่บ้าน แล้วก็เป็นงานที่ต้องในอินเทอร์เน็ตทั้งคู่ ตอนนี้คือ เน็ตล่มบ่อยมาก เหมือนเราเตอร์รับไม่ไหว”

ขณะเดียวกัน ตอนนี้ ก็อยู่ในช่วงสอบปลายภาค ซึ่งระบบการสอบจากเดิมที่เคยเป็นการสอบในห้อง ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นการสอบบนระบบออนไลน์แทน โดยทางมหาวิทยาลัยจะส่งอีเมลเชิญให้นักศึกษาเข้าไปในระบบ คล้ายกับ Google docs แล้วให้กรอกคำตอบลงในฟอร์ม เมื่อเวลาหมด ระบบก็จะตัดไป ซึ่งก่อนสอบจริง มหาวิทยาลัยก็จะให้นักเรียนทดลองซ้อมการสอบกันก่อน


“มีจัดให้ซ้อมสอบก่อน แต่บางคนก็ไม่ได้เข้า เพราะมีปัญหา เค้าก็ไม่จัดซ้อมอีกรอบ บอกว่าเจอกันวันสอบเลย”


ความไม่พร้อมของระบบ อุปกรณ์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้นักศึกษาบางคนเจอปัญหาคอมค้าง ระหว่างการทำข้อสอบ โดยเธอขยายความเพิ่มเติมว่า อีเมลที่มหาวิทยาลัยส่งมา บางทีก็เข้าช่องอีเมลขยะ หรือบางคนกดเข้าระบบไปไม่ได้ ก็ต้องไปติดต่อศูนย์คอมฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยดำเนินเรื่องให้

ปัญหานี้ ไม่ได้เป็นกันแค่คนสองคนเท่านั้น แต่นักศึกษาคนดังกล่าว เล่าว่า จากเพื่อนร่วมเอกทั้ง 75 คน มีคนที่ประสบปัญหานี้กว่า 10 คนเลยทีเดียว ยิ่งกว่านั้น ก็ใช่ว่าบ้านของทุกคน จะมี Wi-Fi รองรับการเรียน-สอบทางไกลได้

“อยากให้เขามองเห็นนักศึกษาบ้าง มันแสดงให้เห็นว่า รัฐควรช่วยเหลือให้รอบด้าน เพราะนักศึกษาเรียนที่บ้านก็เจอปัญหาเหมือนกัน เขาควรจะมีแนวทางให้มหาวิทยาลัยชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยจะช่วยซัพพอร์ทนักศึกษายังไงบ้าง”

ไม่เพียงแต่ความคิดของนักศึกษาเท่านั้น พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหานี้ ผ่านรายการ Talking Thailand ของ VoiceTV เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมาว่า นิสิตหลายคนต้องเสียค่าใช่จ่ายกับอินเทอร์เน็ตเพิ่ม เพื่อให้มีสัญญาณพร้อมสำหรับการเข้าเรียนออนไลน์

“ผมต้องสอนหนังสือแบบออนไลน์ ก็มีเด็กบางคนมาขอไม่เข้าเรียนออนไลน์ เพราะไม่มีเงินจะซื้ออินเทอร์เน็ต แล้วเขาก็ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่จะใช้เน็ตได้ เพราะการที่เราสอนออนไลน์ 3 ชั่วโมง เด็กต้องใช้อินเทอร์เน็ตแรงขนาดไหน เพื่อจะเข้ามาดูได้”


ความเหลื่อมล้ำบนโลกดิจิทัล

ทำไมบางคนถึงมีอุปกรณ์ไม่พร้อม ทำไม Wi-Fi ถึงยังไปไม่ทั่วถึง? แน่นอนว่า ทุกคนควรจะเข้าถึง Wi-Fi มีอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ และเข้าใจวิธีการใช้อย่างถ่องแท้ แต่ในโลกที่ความเหลื่อมล้ำแพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า โลกของอินเทอร์เน็ตเองก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน โดยเราเรียกปัญหานี้ว่า ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ความเหลื่อมล้ำดิจิทัล (Digital Divide) คือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ ของยุคปัจจุบัน

ในรายงานของ Freedom House องค์กรอิสระตรวจสอบเสรีภาพและประชาธิปไตยทั่วโลก ระบุว่า เมื่อปี 2019 มีคนไทยเพียง 57% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่ผลการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป ระหว่างปี พ.ศ. 2552-2561 กลับระบุว่า สัดส่วนของกลุ่มประชากรที่เข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต คือกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล มากกว่านอกเขตเทศบาล นอกจากนี้ ยังมีสัดส่วนประชากรที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ มากกว่ากลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์ และส่วนใหญ่ ก็เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเช่นกัน

แล้วความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่?

อเล็ฟ โมลินาริ (Aleph Molinari) นักเศรษฐศาสตร์ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเทคโนโลยี อธิบายสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในงาน TED talks หัวข้อ Let’s bridge the digital divide ว่า สาเหตุแรกที่ทำให้คนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี คือราคาที่แพงเกินไป สาเหตุที่สอง คือพวกเขาใช้มันไม่เป็น และสาเหตุที่สาม คือพวกเขาไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากมัน

โมลินาริ เล่าเสริมว่า โลกของเรามีประชากรอยู่เกือบ 7 พันล้านคน แต่มีราว 2 พันล้านคนเท่านั้น ที่เข้าถึงเทคโนโลยี คิดเป็นเปอร์เซ็นต์คร่าวๆ ได้เท่ากับ 30% ของประชากรโลกทั้งหมด นั่นหมายความว่า อีก 70% ที่เหลือ หรือเกือบ 5 พันล้านคน ไม่มีคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตใช้


“อินเทอร์เน็ตไม่ควรจะเป็นความหรูหรา แต่ควรเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง เพราะมันคือปัจจัยทางสังคมขั้นพื้นฐาน ในศตวรรษที่ 21”


ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงไปกับความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ความไม่ทั่วถึงของการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน อย่างระบบไฟฟ้าและโทรศัพท์ ที่มักกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก ทั้งยังเกี่ยวพันถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่นำไปสู่ข้อจำกัดของทักษะการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ในกลุ่มคนที่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา 

นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ขาด เพราะประชากรที่มีรายได้น้อย ก็จะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์น้อยเช่นเดียวกัน หรือหากมีคอมพิวเตอร์เป็นของตนเอง ก็อาจมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับค่าบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ต่างจากผู้ที่มีรายได้มาก ซึ่งสามารถจัดหาคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตให้กับตนเองและเผื่อแผ่ไปถึงสมาชิกในครอบครัวได้อีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นปี ค.ศ.2019 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำหนดให้ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เป็นหนึ่งในความท้าทายในแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และก่อตั้งโครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยมีแผนดำเนินการว่าจะติดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับ 24,700 หมู่บ้านชนบท

และในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.2019 โครงการก็ประกาศว่าติดตั้งเสร็จแล้ว 15,114 หมู่บ้าน โดยจะบริการ Wi-Fi ฟรี 1 จุดต่อหมู่บ้าน ขณะที่ผู้ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านสามารถจ่ายเงินในราคา 399 บาท ต่อเดือน เพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง

แต่การจะลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ไม่ได้แปลว่า แค่บ้านเรือนของผู้คนมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็เพียงพอแล้วเท่านั้น เพราะยังต้องมีสิ่งอื่นๆ รองรับด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ หรือกำลังทรัพย์ในการเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาอย่าง ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้ว ราคา 399 บาทต่อเดือน จึงไม่ใช่ราคาที่ผู้คนบางกลุ่มจะรับไหว

นี่เป็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในช่วงเวลาปกติเท่านั้น ยังไม่นับรวมถึงภาวะวิกฤตที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งถูกซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งเด่นชัดมากขึ้น เมื่อรัฐบาลสั่งให้สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอน แล้วให้นักเรียน-นักศึกษาเรียนผ่านระบบออนไลน์แทน แต่นักเรียน นักศึกษาหลายคน ก็มาจากครอบครัวที่มีความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของพวกเขา จึงถูกจำกัดให้อยู่ในเฉพาะห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ที่สถานศึกษาจัดหาให้เท่านั้น


มหาวิทยาลัยและรัฐบาล ควรช่วยเหลืออย่างไร?

มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคำชมเรื่องมาตรการช่วยเหลือนักศึกษา คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีทั้งบริการจัดหาซิมอินเทอร์เน็ตให้กับนักศึกษาที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตในการเรียนออนไลน์  และให้ทุนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จำนวน 5,000 ทุน รวมถึง นักศึกษาสามารถยื่นเรื่องขอผ่อนผัน หรือขยายเวลาผ่อนผันชำระค่าเล่าเรียนออกไปได้จนถึงสิ้นปีการศึกษา 2562

“มหาวิทยาลัยช่วยเหลือดีมาก มีการติดต่อขอลดค่าโทรศัพท์ให้ นักศึกษาสามารถใช้โปรแกรมของ Microsoft และ Google hangout meet ได้ฟรี มีแบบสอบถามคอยถามไถ่ว่า เจอปัญหาอะไรจากการเรียนออนไลน์บ้าง มีโน๊ตบุ๊คไหม มีอินเทอร์เน็ตหรือเปล่า แถมล่าสุดก็มีทุนให้คนที่เดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายให้ด้วย” คำบอกเล่าจากนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์ ที่อธิบายให้เห็นถึงมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกัน ก็มีการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยคืนค่าเทอมให้นักศึกษาบางส่วน เพื่อช่วยเยียวยานักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้ด้วย ซึ่งเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เสนอรัฐบาลให้เร่งเยียวยาเหล่านิสิต นักศึกษาในช่วงที่ COVID-19 ระบาด โดยนอกจากจะให้มหาวิทยาลัยพิจารณาคืนค่าเทอมบางส่วนให้นักศึกษาแล้ว รังสิมันต์ยังเสนอให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเงินช่วยเหลือให้มหาวิทยาลัยที่อาจจะมีปัญหาด้านงบประมาณ

ตอนนี้ มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เริ่มพิจารณาเรื่องการคืนค่าเทอมบางส่วนให้นักศึกษาแล้ว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธรรมศาสตร์, ศรีปทุม, หอการค้า, นอร์ทกรุงเทพ, กรุงเทพ, หาดใหญ่ เป็นต้น ในขณะที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อนุมัติคืนค่าเทอมแล้ว 20%

ถึงอย่างนั้น ก็มีอีกหลายมหาวิทยาลัย ที่ยังไม่มีท่าทีใดๆ

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำจาก มิชา เคทเชลล์ (Misha Ketchell) บรรณาธิการสื่อออนไลน์ The Conversation เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในช่วง COVID-19 ในการเรียน โดยเสนอว่า สิ่งที่ผู้ให้การศึกษาควรทำเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลคือ เพิ่มการเข้าถึงทางดิจิทัล โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ด้วยการจัดหาสัญญาณเพื่อให้เข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้

เคทเชลล์ ยังเสริมด้วยว่า มหาวิทยาลัยควรสอบถามนักศึกษาว่า มีอุปกรณ์รองรับการเรียนออนไลน์พร้อมไหม มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเสถียรพอสำหรับการเรียนหรือเปล่า และถามถึงเวลาในการเข้าเรียนออนไลน์ที่สะดวกต่อตัวนักศึกษา เพราะมีนักศึกษาหลายคนที่สภาพแวดล้อมของบ้าน ไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์ หรืออาจมีสิ่งรบกวนเยอะเกินไป

ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกเน้นให้เห็นเด่นชัดขึ้น จากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งถือว่าเรื่องนี้ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รัฐบาล และมหาวิทยาลัย ควรเร่งหาทางช่วยเหลือโดยเร็ว


เพื่อให้เหล่านิสิต นักศึกษา เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเขาควรจะได้ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวิกฤตหรือไม่ก็ตาม




Source:

Thematter

Study from home ยังไง ถ้าไม่มีเน็ต? เมื่อ COVID-19 ทำให้ยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

https://thematter.co/social/education/study-from-home-during-pandemic/106746