นักเรียนกดไลก์..ใช่เลย! เคล็ดลับการสอนให้สนุกของคุณครู

Last updated: 19 ก.พ. 2563  | 

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 - 14:37 น.


หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้นักเรียนอยากไปโรงเรียน คือการที่นักเรียนสนุกกับการเรียนรู้ในห้องเรียน อ้างอิงจากคู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียนของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ปัญหาของนักเรียนสมัยนี้คือไม่ตั้งใจเรียน สมาธิสั้น ขาดแรงจูงใจ เบื่อเรียน คุยกันระหว่างเรียน ดังนั้นเคล็ดลับการสอนให้สนุกของครูจะเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้เด็กตั้งใจเรียน  ชอบการเรียน ดึงดูดความสนใจและสร้างแรงจูงใจมากขึ้น เมื่อนักเรียนกลับมาสนุกกับการเรียน กับครูผู้สอน วิธีการสอน สื่อการสอนและรูปแบบการสอน นั่นจะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในห้องเรียนกับครูได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการถามตอบ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ดีกว่าแค่นั่งฟังครูเฉยๆ



1. สอนแบบใจเขาใจเรา

วิธีการสอนนักเรียนแบบที่เข้าใจนักเรียน เอาใจเขามาใส่ใจเรา เรียกได้ว่าเป็นวิธีที่สำคัญมากกว่าวิธีการสอนแบบไหนๆ ครูผู้สอนต้องเปิดใจและเปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิด ได้ทำ ได้แสดงออกโดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีส่วนร่วมในห้องเรียน ในขณะที่ครูจะต้องไม่ป้อนเนื้อหาเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่สนใจว่านักเรียนจะเข้าใจเนื้อหาไหม

เคล็ดลับคือการสนับสนุนโดยเปิดช่องทางให้นักเรียนได้ถามคำถามเมื่อตัวเองสงสัยกับครูเพื่อให้บรรยากาศไม่ตึงเครียดจนเกินไป และเพื่อให้นักเรียนไม่รู้สึกเคอะเขินในการถาม ครูจะต้องไม่ตำหนิ ไม่รำคาญ แต่พยายามจะเข้าใจสถานการณ์ของนักเรียน ประเมินว่านักเรียนเปิดรับมากแค่ไหนในคลาสเรียนนั้นๆ

 

2. สอนไป..เล่าไป

ศิลปะการเล่าเรื่องถือเป็นศาสตร์ที่สามารถดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี บรรยากาศในห้องเรียนคงจะสนุกมากขึ้นหากครูนำเกร็ดความรู้ต่างๆ เรื่องราวจากข่าวสารหรือเรื่องราวในอดีตอย่างประวัติศาสตร์มาสอดแทรกในเนื้อหาหลักที่จะสอน การเล่าเรื่องจะช่วยเพิ่มอรรถรสและทำให้นักเรียนจำได้ง่ายกว่าเนื้อหาที่อ่านจากหนังสือหรือจากที่ครูถ่ายทอดโดยตรง อีกทั้งการเล่าเรื่องก็จะช่วยย่อยเนื้อหาบางส่วนที่เยอะและเข้าใจยากให้เป็นเรื่องราวที่นักเรียนสามารถจินตนาการตามได้ ทั้งได้ความตื่นเต้น ความรู้จากเนื้อหา ความรู้รอบตัวที่จะทำให้นักเรียนไม่รู้สึกเบื่อหรือง่วงในขณะที่เรียนด้วย

 

3. สอนด้วยเทคนิคลับ

ระยะความยาวของคลาสเรียนหนึ่งๆ อาจจะทำให้นักเรียนง่วงเหงาหาวนอน เหม่อลอย ฝันกลางวันไปเรื่อยๆ เพื่อจะเบี่ยงเบนความสนใจ หนีออกจากเนื้อหาที่ครูสอนและคลาสเรียนที่น่าเบื่อหน่าย ดังนั้นเคล็ดลับการแก้ปัญหานี้ คือการแอบบอกเทคนิคหรือสูตรลับที่ครูอาจจะกระซิบและกำชับบอกนักเรียนว่าจะออกสอบ รับรองว่านักเรียนจะต้องหูผึ่ง หันมาสนใจสิ่งที่ครูกำลังจะบอกเพื่อจะตั้งใจจดทริกการจำหรือสูตรลับต่างๆ ที่อาจจะออกสอบเพราะสำหรับนักเรียนนี่คือทางลัดชั้นดีที่ไม่ต้องมาย่อยเนื้อหาเยอะแยะด้วยตนเองและก็เข้าใจตามได้ไม่ยากอีกด้วย

 

4. สอนแบบแชร์ประสบการณ์

เพราะใครๆ ก็ชอบฟังและเรียนรู้จากเรื่องราวชีวิตของคนอื่น เมื่อครูสอนและเลือกที่จะสอดแทรกเรื่องราวของตนเองหรือ ผู้อื่นโดยเฉพาะเพื่อสอนเป็นอุทาหรณ์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ข้อคิด นักเรียนก็มักจะให้ความสนใจอย่างมากและสามารถเข้าใจถึง แนวทางของสิ่งที่เรียนในห้องเรียนว่าจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร จะช่วยสถานการณ์ในชีวิตได้อย่างไร วิธีนี้ทำให้ครูช่วยเปิดโลกทัศน์และสอนประสบการณ์ชีวิตให้กับนักเรียนเพราะความรู้ไม่ได้หยุดแค่ในห้องเรียนเท่านั้น


5. สอนแบบเกมโชว์

หากเนื้อหาอำนวยให้ครูสามารถเปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็นเวทีเกมโชว์ได้ การสอนแบบเกมโชว์ ชิงรางวัลก็จะสร้างความสนุกและทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของนักเรียนทุกคนในห้องเรียน ครูอาจจะออกแบบการแข่งขันให้นักเรียนตอนคำถาม ถามคำถาม แชร์ความคิด ได้ความรู้และยังสนุกไปพร้อมๆ กัน ยิ่งถ้าหากมีรางวัลไม่ว่าจะเป็นขนมหรือคะแนนพิเศษเป็นตัวกระตุ้นแล้ว การสอนแบบนี้อาจเป็นวิธีอันดับต้นๆ ที่นักเรียนโปรดปราน อย่างไรก็ตามครูจะต้องระวังและให้โอกาสแก่นักเรียนทุกคนเท่าๆ กันเพราะเด็กบางคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ในขณะที่บางคนกล้าแสดงออกมากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งอาจขโมยโอกาสของเด็กที่เงียบกว่าก็เป็นได้

 

6. สอนให้จบภายในคาบเรียน

ในหนึ่งวันของนักเรียนไทยมักจะเรียนมากกว่า 5 วิชา ดังนั้นเนื้อหาที่เรียนก็มากพอที่จะทำให้เกิดความสับสนอยู่แล้ว การสอนให้จบภายในคาบเรียนจะช่วยให้สมองของนักเรียนจัดการข้อมูลเนื้อหาที่เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดเป็นกลุ่มหรือหมวดหมู่ของหัวข้อนั้นๆ ก็จะง่ายขึ้นทั้งครูผู้สอนและนักเรียน หากครูมีสอนค้างและต้องสอนเนื้อหาเรื่องเดียวกันต่อในวันถัดไปหรือสัปดาห์ถัดไป นั่นก็จะทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องของเนื้อหา ทำให้นักเรียนอาจจะลืมเนื้อหาได้ ความสนใจในเรื่องนั้นก็เริ่มหายไป ครูควรวางแผนการสอนในปริมาณพอเหมาะ ไม่ยัดเยียด ไม่ยืดเยื้อจนเกินไป

 

7. สอนแบบลงมือทำ

วิธีการเรียนรู้ไม่ได้มีแค่การฟังหรือการดูแต่ก็มีการลงมือทำด้วย เด็กบางคนถนัดที่จะเรียนรู้โดยการทำมากกว่าวิธีอื่นๆ การสอนแบบลงมือทำทำให้นักเรียนได้มีโอกาสได้ทดลอง ได้ทำจริง ได้เห็นของจริง ทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหานั้นๆ มากขึ้นในชีวิตประจำวันหรือโลกแห่งความจริง การมีประสบการณ์โดยตรงก็จะทำให้นักเรียนจำได้ดีกว่าการอ่านจากหนังสือ หรือฟังจากครู อีกทั้งวิชาเชิงปฏิบัติ เช่นวิชาคอมพิวเตอร์ คหกรรม ดนตรี วาดรูป พลศึกษาก็เป็นวิชาที่ช่วยให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลาย และได้ใช้ศักยภาพในด้านอื่นนอกจากการฟัง พูด อ่าน เขียน ส่วนนักเรียนที่ไม่ถนัดในวิชาเชิงทฤษฎีก็มีโอกาสได้เรียนรู้และ ทำในสิ่งที่ชอบ

 

8. สอนไป เฮฮาไป

ครูมีอารมณ์ขัน แทรกเรื่องตลกในการสอน มักจะเป็นที่จดจำของนักเรียน..ดังนั้นการสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง สนุกสนานแต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตการสอน จะช่วยให้นักเรียนไม่เบื่อ ไม่เครียดเกินไป ทำให้นักเรียนสนุกไปกับการเรียนด้วย ยิ่งเวลาครูส่งมุกตลก เย้าแหย่ แซวนักเรียนอย่างเหมาะสม จะทำให้นักเรียนตื่นตัว รีแลกซ์ สนุกไปด้วย ซึ่งอาจทำให้นักเรียนกล้ามีส่วนร่วมในการถามตอบหรือแสดงความคิดเห็นเพราะบรรยากาศไม่ใช่แค่การสอนทางเดียว แต่ครูพยายามสร้างบรรยากาศการสอนให้เป็นสองทางซึ่งทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน

 

9. สอนโดยสื่อการเรียนรู้

เครื่องมือ สื่อการเรียนรู้ก็เหมือนกับอาวุธของครูผู้สอน หากครูมีอาวุธที่ดีก็จะทำให้การสอนสนุก ราบรื่น เป็นที่น่าจดจำของนักเรียน สื่อต่างๆ มีตั้งแต่สื่อธรรมดาไปจนถึงสื่อพิเศษที่สร้างมาเพื่อการสอนโดยเฉพาะ สื่อธรรมดาทั่วไปอาจเป็นแค่เพลง วิดีโอ คลิปหนัง หรือโปสเตอร์ แฟลชการ์ดต่างๆ ส่วนสื่อพิเศษอาจเป็นโมเดล ซอฟต์แวร์ 3 มิติที่แสดงให้ถึงทุกองศาของสิ่งของ ทำให้นักเรียนเข้าใจและเห็นภาพได้ง่ายยิ่งขึ้นนอกจากแค่การโชว์สื่อ ครูอาจแบ่งกลุ่มให้นักเรียนลองหยิบ จับหรือใช้สื่อเพื่อช่วยกันเรียนรู้และมีส่วนร่วมภายในห้องเรียน

 

10. สอนแบบสำรวจท่องโลก

การออกจากห้องเรียนเพื่อไปร่วมค่ายต่างจังหวัดหรือทัศนศึกษานอกสถานที่เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีสำหรับนักเรียน เพราะนักเรียนจะได้เห็นของจริงในโลกแห่งความเป็นจริง นักเรียนมักจะรู้สึกตื่นเต้น กระตือรือร้นที่ได้เรียนนอกสถานที่ ทำให้นักเรียนมีความสนใจ ความตั้งใจที่ดี  นอกจากนั้นนักเรียนจะได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับตนเอง รับผิดชอบต่อตนเองเมื่อไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน หากครูสามารถจัดทริปหรือค่ายที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่เรียนก็จะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนที่จะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกหนังสือเรียนอีกด้วย


Source: 

เทใจให้เลย! 10 วิธีการสอนของครูที่นักเรียนเลิฟมาก, Dek-D https://www.dek-d.com/education/42705/

9 วิธีการสอนของครูที่นักเรียนชอบแน่นอน, TrainKru by Learn Education https://www.trainkru.com/เทใจให้เลย-10-วิธีการสอน/สาระความรู้/