Last updated: 20 ก.พ. 2563 |
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 - 11:36 น.
เมื่อชีวิตล้วนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สมองของคุณจะรับมือความไม่แน่นอนได้อย่างไร หรือเป็นไปได้ไหมที่วิทยาศาสตร์จะค้นพบกลไกที่ทำให้คุณทัดทานชีวิตอันไม่แน่นอนนี้ ค้นพบการรักษาจิตใจไม่ให้แตกสลายเมื่อความไม่แน่นอนพรากทุกอย่างไป งวดหน้าจะถูกหวยไหม เมื่อไหร่จะรวยๆ กับเขาสักที เป็นไปได้ไหมที่พรุ่งนี้จะสะดุดพบรัก เศรษฐกิจบ้านเมืองนี้เมื่อไหร่จะดีขึ้น หรือแม้กระทั่งพรุ่งนี้เราจะตายไหม?
ก่อนก้าวเท้าออกจากบ้านพวกเรายังคงสารวนกับคำถามที่ไร้คำตอบ เรามีชีวิตในสังคมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ซึ่งเป็นแบบนี้มาหลายล้านปี (ในบางมิติของชีวิตอาจดีขึ้นตามพัฒนาการและวิทยาการทางสังคมมนุษย์ อย่างน้อยคุณก็ไม่ถูกเสือมันคาบไปแบบบรรพบุรุษรุ่นก่อน) แต่น่าสงสัยว่า สมองของมนุษย์แบกรับความไม่แน่นอนเหล่านี้ได้อย่างไร ทำไมการสร้างภูมิคุ้มกันความไม่แน่นอนถึงมีความจำเป็นในการอยู่ร่วมเป็นสังคม
ขอบคุณภาพจาก: thematter.co
รอคอยไร้สิ้นสุด
การรอคอยอันไร้ที่สิ้นสุดในโลกฝั่งตะวันตกเขาเรียกติดปากว่า limbo อิงจากวรรณกรรม divine comedy หรือรู้จักกันในชื่อ ‘ไตรภูมิดันเต้’ เป็นวรรณกรรมอุปมานิทัศน์ที่ ดันเต้ อาลีกีเอรี (Dante Alighieri) เขียนขึ้น ในตอนหนึ่งว่าด้วยขุมนรก Limbo อันน่าอดสูที่มนุษย์นั้นต่างไร้ความหวัง นั่งเหี่ยวเฉารอคอยไปเรื่อยๆไร้จุดหมายในภูมิที่มืดมิดปราศจากแสงสว่าง เอาเข้าจริงบางช่วงของชีวิตพวกเราก็มีบรรยากาศเฉกเช่นขุมนรก limbo อยู่บ้าง อนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไรนั้นยากที่จะรู้เทียบเท่ากับแสงสว่างที่ริบหรี่ แต่สมองของเรายังมีศักยภาพที่พยายาม ‘สร้างอนาคต’ ขึ้นจากข้อมูลประสบการณ์ที่คุณสะสมมาทั้งชีวิต อนาคตที่ว่านี้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมคุณระยะยาวนานหลายปี หรืออาจตลอดชีวิตเลยด้วยซ้ำ
สมองคาดการณ์อนาคตโดยอาศัย ‘ความทรงจำ’ (memories) ในอดีตและประสบการณ์ของผัสสะ (senses) เพื่อทำนายว่าอนาคตนั้นจะมีหน้าตาเช่นไร อาจจะบอกได้ว่า อนาคตคือ ‘Concept ของคุณเองเท่านั้น’ หาใช่คนอื่นสามารถทายทักได้ และอนาคตของคุณจึงไม่มีทางเหมือนคนอื่น เพราะองค์ประกอบของประสบการณ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
คนส่วนใหญ่หากรู้สึกว่าอนาคตนั้นไม่แน่นอน ก็ล้วนมีความวิตกกังวล อาการขนลุกซู่ หรือกระตุกเต้นราวไฟช็อต เพื่อเป็นนัยว่าเราต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง มีงานวิจัยแปลกๆ หน่อยใน methodology ชิ้นหนึ่งของ มหาวิทยาลัย University College London ที่มีสมมติฐานว่า หากความรู้สึกวิตกไม่แน่นอนมีภาวะคล้ายถูกกระตุ้นด้วยไฟฟ้าช็อต ทำไมเราไม่ช็อตไฟฟ้าซะเลยล่ะ! ดังนั้นจึงให้อาสาสมัครทดสอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่ทีมวิจัยออกแบบขึ้นมา โดยเป็นเกม ‘ตามหางู’ ที่ซ่อนอยู่หลังก้อนหิน ทุกๆ ครั้งที่เจองูซ่อนอยู่ อาสาสมัครจะถูกไฟฟ้าช๊อต 1 ครั้ง (เบาๆ พอสะดุ้ง ไม่ถึงกับตาตั้ง น้ำลายฟูมปากหรอกนะ)
คราวนี้เจ้าเกมนี้ก็ไม่ธรรมดาอีก เมื่อมันสามารถสร้างความไม่แน่นอนขึ้นได้ โดยอาศัยการวัดสถานะผู้เล่นด้วยปริมาณเหงื่อ รูม่านตาขยาย และความเครียด เกมจะค่อยๆ ทำลายรูปแบบตัวเอง เพื่อไม่ให้ผู้เล่นเดาทางได้ อาจเปิดหินแล้วไม่เจองูบ้าง หรือเปิดเจองูติดๆ กันแล้วโดนช๊อตรัวๆ จนรู้สึกหัวเสีย หรือเปิดแล้วเจองูแต่กลับไม่ช็อต จนเป็นการสุ่มที่ไร้รูปแบบ
ไอ้เจ้าความไร้รูปแบบนี้เอง ผลที่ได้คือ อาสาสมัครที่ร่วมเล่นมีความเครียดมากกว่าเดิม ตอบสนองต่อไฟช็อตรุนแรงขึ้น และรู้สึกว่าแรงดันไฟฟ้าถูกปรับแรงขึ้นทั้งๆ ที่อยู่ระดับเดิมมาโดยตลอด งานวิจัยนี้จึงสรุปได้ไอเดียคร่าวๆ ว่า หากคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่เป็นทุนเดิม และสิ่งที่แย่อาจเกิดขึ้น ก็จะยิ่งทำให้เกิดการถูกครอบงำด้วยความรู้สึกด้านลบ (negative) สำหรับการตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นๆ
ต่างกับสถานการณ์ที่ ‘เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย’ ที่ยังพอมีหวังในด้านบวก (positive) ต่อผลที่ตามมาบ้าง การมีความหวังจะช่วยให้ไม่รอคอยอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก สิ่งนี้เองที่นักจิตวิทยาเชิงพฤติกรรมเรียกว่า ‘uncertainty tolerance’ หรือความสามารถในการต้านทานความไม่แน่นอน ที่แต่ละคนมีระดับสเปคตรัมหลายเฉดสี ตั้งแต่คุณสามารถรอรถเมล์ได้นานแค่ไหน อดทนต่อคิวได้นานไหม เฝ้ารอคนรักหน้าห้องผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีความหวังหรือร้องไห้คร่ำครวญไปอย่างสิ้นหวัง
ขอบคุณภาพจาก: thematter.co
อย่างไรก็ตาม หากมองมิติของอาชีพนั้น การอดทนต่อความไม่แน่นอนก็มีทั้งด้านที่ดีและไม่ดี เช่น หากคุณเป็นศัลยแพทย์ที่ต้องมีความผิดพลาดน้อยที่สุด การปล่อยให้ความไม่แน่นอนเป็นเรื่องชิลๆ หยวนๆ ก็อาจเสี่ยงให้ผู้ป่วยตายคาเตียง เพราะคุณกรีดเอาเส้นเลือดใหญ่ผิดเส้น หรือหากคุณเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศที่ต้องเผชิญความไม่แน่นอนตลอดเวลา คุณก็ต้องพร้อมที่จะประกาศว่า “สภาพอากาศไม่สู้ดีนัก แต่พวกเรารับมือได้” เพื่อให้นักบินไว้วางใจ โอเคยังลงจอดได้ ไม่ปักหัวลงรันเวย์ ดังนั้นจึงไม่มีด้านดีที่สุดและด้านมืดที่สุดของการทนทานต่อความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ชีวิตและการปรับใช้
แต่สำหรับคนทั่วไปที่ใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้อยู่บนเส้นแบ่งความเป็นความตายมากนัก การมีความสามารถในการรับมือความไม่แน่นอนได้นั้นย่อมดีกว่า เพราะความสามารถนี้มีผลกระทบต่อชีวิตหลายมิติ มีตัวอย่างในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งที่สามารถรับมือกับคำวินิจฉัยได้ดีกว่า และตอบรับการรักษาทางแพทย์ หรือกลุ่มผู้ป่วยพาร์กินสันที่เปิดใจให้กับความไม่แน่นอนของชีวิตมีแนวโน้มที่จะสูญเสียทักษะการเขียนและใช้ภาษาน้อยลงกว่าคนที่วิตกกังวลต่อความเปลี่ยนแปลง
รวมไปถึงคนที่ยืดหยุ่นต่อความสัมพันธ์ที่ไม่ได้คาดหวังจุดหมายปลายทางว่าจะสวยหรู ก็ล้วนสามารถสร้างความสัมพันธ์ใหม่ได้ และมีแนวโน้มจะมีชีวิตคู่มากกว่า การปรับตัวให้เข้ากับความไม่แน่นอน ไม่สามารถทำได้ปุบปับเปรียบดั่งการที่คุณจัดการกับภาวะกลัวแบบ phobia ที่มีหลักการคล้ายๆ กัน คือการค่อยๆ ปล่อยให้เผชิญหน้าทีละนิด เช่น ถ้าคุณกลัวสุนัขมาก ก็จำเป็นต้องค่อยๆ เรียนรู้จากสุนัขพันธุ์เล็กๆ น่ารัก ลองให้มันอยู่ใกล้ๆ เพื่อทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่สุนัขทุกตัวจะน่ากลัว ยังมีสุนัขที่น่ารักอยู่ร่วมในโลกนี้อีก และอาการดุร้ายของพวกมันก็ยังมีเหตุผล
เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ทันตั้งตัวที่ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป โดยมีพื้นฐานคือ รักษาไว้ด้วยพฤติกรรมที่ปลอดภัย (safety behaviors) โดยมีเป้าหมายว่าคุณจะไม่เอาตัวไปอยู่ในความเสี่ยงมากนัก ถ้ายังไม่ชินสุนัขก็อย่าเอามือไปลูบหากไม่แน่ใจ กรณีเดียวกันกับสถานการณ์บางอย่างที่เข้ามาก็ไม่ได้ลงทุนทุ่มสุดตัวจนไม่มีทางกลับ
ทุกวันนี้พวกเราสูญเสียทักษะในการรับมือความไม่แน่นอนลดน้อยลง โดยคำอธิบายส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ การมาของอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ที่สามารถทำให้เราบรรเทาความไม่แน่ใจได้ทันทีเพียงไม่กี่คลิ๊ก รู้ผลทันทีจากการค้นหา หรือการที่เราเข้าถึงบริการฉุกเฉินได้มากมายหลายออฟชั่น ซึ่งก็มีข้อดีที่ทำให้เรามีเครือข่ายความปลอดภัยที่แน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็มีช่องว่างต่อการผิดพลาดน้อยลง จนความผิดพลาดเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องใหญ่และให้อภัยกันไม่ได้
ท้ายสุดแล้วการรอคอย จำเป็นต้องมีการลงมือปฏิบัติ เพราะการรอคอยโดยที่ไม่ทำอะไรเลยอาจเลวร้ายกว่า แม้คุณจะลงมือแล้วมันอาจไม่ได้ผลด้านบวกทันที แต่สามารถทำให้เราเรียนรู้ว่าคราวหน้า ฉันมีทางออกที่จะจัดการได้ดีกว่านี้
Source:
The MATTER เมื่ออนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน สมองรับมือกับความสั่นคลอนของชีวิตอย่างไร
https://thematter.co/science-tech/coping-up-with-uncertainty/88851
16 ก.ย. 2564
7 ก.ย. 2564
10 ก.ย. 2564