‘อยู่ด้วยกันแบบไม่ได้อยู่ด้วยกัน’ เมื่อความสัมพันธ์อาจไม่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา?

Last updated: 20 ก.พ. 2563  | 

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 - 14:43 น.

 

หลายปีมาแล้วที่เราจะเห็นว่าคู่รักหลายคู่นิยมแยกกันอยู่ บางคู่แต่งงานกันแล้ว แต่ก็ยังไม่ย้ายเข้าบ้านของอีกฝ่าย บางคู่แม้จะอยู่บ้านด้วยกัน แต่ก็แยกกันอยู่คนละห้อง หรือบางคู่ก็ไม่แต่งงานกันเลย เพื่อจะได้ไม่สร้างข้อผูกมัดใดๆ ให้วุ่นวาย ‘Living Apart Together’ หรือ LAT จึงเป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่คู่รักสมัยนี้นิยมทำกันมากขึ้น



เดิมที LAT เป็นความสัมพันธ์ที่กลุ่มคู่รัก ‘อายุมาก’ เป็นผู้นำเทรนด์ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าตัวเองนั้นผ่านความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมมามากพอแล้ว เลยทำให้พวกเขาอยากใช้ชีวิตโดย ‘ขึ้นอยู่กับตัวเอง’ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังอยากคงความโรแมนติกเอาไว้ จากผลสำรวจในปี ค.ศ.2011 พบว่า ผู้ใหญ่วัย 50 ปี (และมากกว่านั้น) กว่า 7,000 คน ในรัฐวิสคอนซิน มี 71.5% ที่แต่งงานแล้ว อีก 20.5% เป็นคนโสด ส่วน 8% ที่เหลือพบว่าเป็นคู่รักที่ไม่ได้แต่งงานกัน ซึ่งในกลุ่มคู่รักที่ไม่ได้แต่งงานกัน กว่า 39% อยู่ในความสัมพันธ์แบบ LAT

ต่อมาในปี ค.ศ.2016 ก็มีคนวิจัยถึงแรงกระตุ้นที่ทำให้คู่รักอายุมากมีความสัมพันธ์แบบนี้ ซึ่งปัจจัยหลักๆ ก็คือ พวกเขาอยากมีคู่หูข้างกาย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการพื้นที่บ้านและวัฏจักรสังคมเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยผ่านประสบการณ์ความรักที่ไม่ดี พวกเขาจะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก มันจึงเป็นเรื่องของการมีบ้านที่อยากตกแต่งยังไงก็ได้ รกแค่ไหนก็ได้ นอนหลับกี่โมงก็ได้ เป็นความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างมีอิสระเป็นของตัวเอง ทั้งเรื่องพื้นที่ การเงิน และชีวิตประจำวัน โดยที่ความโรแมนติกก็ยังเป็นเรื่องของคนสองคนอยู่

จนเวลาต่อมา ความสัมพันธ์แบบ LAT ก็ได้กลายเป็นที่นิยมท่ามกลางกลุ่มคู่รักมิลเลนเนียล ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อาจจะด้วยความที่ผู้หญิงสมัยนี้รักอิสระมากขึ้น รวมถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่รูปแบบดั้งเดิมค่อยๆ ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม (เช่น การมีคนรักหลายคน หรือ polyamory) ซึ่งกว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า พวกเขาจะเติบโตได้ดีหากทั้งคู่มีอิสระและพื้นที่ส่วนตัว และพวกเขาก็ไม่อยากเสียสิ่งนั้นไปตอนที่เริ่มต้นความสัมพันธ์ที่จริงจังกับใครสักคน

และทั้งหมดนี้ก็สอดคล้องกับข้อมูลที่เผยว่าวัยรุ่นสมัยนี้ไม่นิยมแต่งงาน มีลูก หรือมีข้อผูกมัดใดๆ แอนนี่ ค็อกซ์ (Annie Cox) ผู้สร้างแอพพลิเคชั่นเดท LAT ‘Apartner’ ที่ถึงแม้เธอจะเป็นบูมเมอร์ แต่เธอก็สังเกตว่ากลุ่มมิลเลนเนียลสนใจที่จะมีความสัมพันธ์แบบ LAT มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการที่ผู้หญิงมีอิสระทางการเงินมากกว่าแต่ก่อน

 

ขอบคุณภาพจาก: thematter.co

 

“คนหนุ่มสาวสมัยนี้รู้สึกว่าพวกเขาไม่จำเป็นจะต้องทำในสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่า ‘ต้อง’ ทำ อย่างเช่นแต่งงาน มีลูก หรือย้ายเข้ามาอยู่บ้านหลังเดียวกัน โดยเฉพาะผู้หญิงหลายคนที่เริ่มตระหนักได้ว่า พวกเธอมีความสามารถในการควบคุมการเงินของตัวเอง” แอนนี่ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงสมัยนี้มองว่าเรื่องแต่งงานหรือมีลูกเป็นเรื่องรองลงมา เมื่อเทียบกับการศึกษาและหน้าที่การงาน และถ้าหากพวกเธออยากแต่งงานหรือมีลูก (ซึ่งหลายคนไม่อยาก) พวกเธอจะเอาไว้ทีหลังสุด “แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายในสังคมอีกต่อไป ถ้าพวกเธอจะเลือกทำแบบนั้น” แอนนี่กล่าว

นอกจากนี้ ลินดา บรอลท์ (Linda Breault) ผู้ร่วมประพันธ์หนังสือเรื่อง Living Apart Together – A New Possibility for Loving Couples ยังได้เสริมอีกว่า “เป็นเพราะผู้หญิงสมัยนี้มีการศึกษาที่ดีขึ้น ร่ำรวยมากขึ้น และตระหนักถึงทางเลือกอื่นๆ ได้มากกว่าผู้หญิงสมัยก่อน จึงทำให้เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน” และเนื่องจากการเติบโตของโซเชียลมีเดียและการเพิ่มขึ้นของตลาดอาชีพในยุคโลกาภิวัฒน์ คู่รักหลายคู่จึงมีหน้าที่การงานที่ทำให้พวกเขาต้องแยกกันไปอยู่คนละที่คนละทาง 

ในปัจจุบัน คำว่า LAT กลายเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น แต่ก่อนหน้าที่คำนี้จะเป็นที่รู้จัก หลายคู่รักค่อนข้างจะนิยามความสัมพันธ์และความรู้สึกของตัวเองได้ยากเหลือเกิน เพราะจู่ๆ การจะไปบอกคนรักว่า “ฉันไม่อยากอยู่กับเธอตลอดเวลา” หรือ “ฉันอยากได้พื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น” ดูจะเป็นประโยคที่ใจร้ายเกินไปหน่อย พาลให้คิดว่า นี่เขาไม่อยากอยู่กับฉันเหรอ? หรือเขากำลังขอห่างหรือเปล่านะ? สามารถตีความได้หลายแบบเลยล่ะ

ฉะนั้น การที่คำว่า LAT เป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงทำให้หลายคนรู้ว่า จริงๆ แล้วพวกเขาต้องการรูปแบบความสัมพันธ์แบบนี้ต่างหาก และยิ่งความสัมพันธ์แบบนี้แพร่หลายมากเท่าไหร่ เราก็จะเห็นว่าผู้คนเลือกความสัมพันธ์รูปแบบนี้กันมากขึ้น ราวกับว่า ที่ก่อนหน้าพวกเขาไม่มีพื้นที่ส่วนตัว เป็นเพียงเพราะพวกเขาไม่รู้จะเรียกความสัมพันธ์แบบนี้ว่าอะไรเท่านั้นเอง

 

แยกกันอยู่ ไม่ใช่หย่าร้าง แต่ห่างกันไปทำกิจกรรมที่ชอบ

อาจจะฟังดูแปลกๆ กับการคบใครสักคนแต่เรากับเขา ‘เลือก’ ที่จะไม่อยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะกับคู่ที่แต่งงานกันแล้ว ที่การย้ายเข้าไปอยู่บ้านหลังเดียวกันกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปที่เราเคยชิน

การตกลงปลงใจจะไม่อยู่ด้วยกันนั้นดีกว่ายังไง? จะรู้ได้ไงว่าวิธีนี้เวิร์กสำหรับคู่เราหรือเปล่า? เว็บไซต์ GoDates ได้ชวนให้เราคิดตามพร้อมๆ กัน ถ้าหากเรากับคนรักอยู่คนละที่แล้วรู้สึก ‘มีอิสระ’ ในการใช้ชีวิตมากขึ้น มีเวลาโฟกัสที่ตัวเอง และไม่สูญเสียความชอบที่เคยมี แสดงว่าวิธีนี้น่าจะดีกับความสัมพันธ์

ก่อนคบกัน ทั้งเราและเขาต่างก็มีกิจกรรมที่ชอบทำเป็นของตัวเองอยู่แล้ว อย่างงานอดิเรก เช่น ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง แต่งบ้าน อ่านหนังสือ เต้นรำ ซึ่งอีกฝ่ายอาจจะไม่อินไปกับเราสักเท่าไหร่ การอยู่ด้วยกันจึงทำให้เราได้ทำสิ่งเหล่านี้น้อยลง เพราะกลัวว่าจะไปรบกวนพื้นที่ของเขาหรือเปล่า รวมไปถึงรสนิยม ความชอบ ความสะอาด และความพึงพอใจส่วนตัว อย่างสีของบ้าน ตำแหน่งชั้นวางของ น้ำยาดับกลิ่นห้อง หรือลายผ้าปูที่นอน แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม แต่ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในภายหลังได้เช่นกัน LAT จึงเป็นเหมือนพื้นที่ในการให้โอกาส ‘ความแตกต่าง’ ของแต่ละคน

 

ขอบคุณภาพจาก: thematter.co



การแยกกันอยู่ยังสอดคล้องกับความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่เราคุ้นหูกันดี นั่นก็คือ ‘รักระยะไกล’ หรือ long-distance relationships ซึ่งมีผลการวิจัยที่พบว่าคู่รักที่อาศัยอยู่ห่างกัน หรือมีเวลาเจอกันที่ค่อนข้างจำกัด มีแนวโน้มที่ความสัมพันธ์จะแน่นแฟ้นมากกว่าคู่รักที่ตัวติดกันตลอดเวลา

คู่รักที่อาศัยอยู่ไกลกันจำนวน 4 คู่ เผยว่า พวกเขารู้สึกดีกับคู่รักของตัวเองมากขึ้น และมองคู่รักในเชิงบวก ‘เกินความเป็นจริง’ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้พวกเขายังใช้เวลานึกฝันถึงความสัมพันธ์ของตัวเอง และสามารถรายงานความรู้สึกออกมาได้แบบโรแมนติกมากๆ ซึ่งผลลัพธ์ในลักษณะนี้จะยิ่งชัดเจนมากขึ้นถ้าพวกเขาเจอหน้ากันน้อยลง ดูเหมือนว่าการที่ไม่ได้เจอกันนานๆ จะทำให้หัวใจของพวกเขาพองโตกว่าเดิมเวลาได้พูดถึงคู่ของตัว และถ้าเป็นแบบนั้นจริง แสดงว่าการแยกกันอยู่ อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรืออาจจะเป็นเพราะการไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา ยิ่งทำให้การมาเจอหน้ากันแต่ละครั้งมีค่าและมีความหมายมากกว่าเดิมก็ได้

 

เพราะแตกต่างมากไปเลยห่างไว้ก่อน ป้องกันการทะเลาะในภายหลัง

แม้จะเป็นคู่รัก แต่ยังไงเรากับเขาก็ไม่ใช่คนเดียวกัน ย่อมมีความแตกต่างอยู่ในตัวเสมอ และเมื่อเกิดความแตกต่างมากเกินไป บางครั้งก็เกิดการกระทบกระทั่งขึ้น ทำไมชอบทำพื้นห้องน้ำเปียก? ไม่ปิดฝายาสีฟันอีกแล้วนะ ยกฝาชักโครกขึ้นมันยากมากหรือไง? ฉันไม่เข้าใจเลย และมันก็ยากที่อีกฝ่ายจะอธิบายเช่นกัน ดังนั้น การมีพื้นที่ส่วนตัวจึงเหมือนเป็นการ ‘ป้องกัน’ การเกิดแรงปะทะจากความไม่เข้าใจ ซึ่งมีที่มาที่ไปจากความแตกต่างของแต่ละคน 

เมื่อไม่นานมานี้ รู้สึกแปลกใจมากกับการได้ยินเรื่องเล่าที่พ่อแม่ของเพื่อนบางคนไม่ได้นอนห้องเดียวกันอีกต่อไป แม่ของเพื่อนคนหนึ่งให้ความเห็นว่า “พ่อเขาจะนอนไม่หลับ ถ้ามีเสียงอะไรทำให้ตื่นจะหลับไม่ได้อีกเลย แล้วจะหงุดหงิดง่ายเพราะนอนไม่พอ อีกอย่างเขากรนเสียงดัง เลยทำให้แม่นอนไม่หลับตามไปด้วย” ซึ่งก็มาทราบภายหลังว่าถึงแม้จะแยกห้องนอน แต่พวกเขาก็ยังรักกันดี

 

ขอบคุณภาพจาก: thematter.co

 

คำว่า ‘พื้นที่ส่วนตัว’ จึงไม่ได้หมายถึงห้องสี่เหลี่ยมในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่ส่วนตัวข้างใน ‘จิตใจและอารมณ์’ ที่ให้เราได้ปลดปล่อยในสิ่งที่มีแต่เราเท่านั้นที่เข้าใจ อย่างวันหนึ่งเกิดทะเลาะกับแฟนขึ้นมา พื้นที่ส่วนตัวตรงนั้นจะทำให้เราได้กลับมาอยู่กับตัวเอง ทบทวนอะไรหลายๆ อย่าง และสามารถกลับมาพูดคุยกับอีกฝ่ายโดยใช้เหตุผลมากขึ้น ต่างจากการมีปากเสียงแล้วถูกขังอยู่ในห้องสองคน ในนั้นจะเต็มไปด้วยความขุ่นมัว ความอึมครึม ซึ่งการปรับอารมณ์ให้เย็นลงขณะนั้นจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากพอสมควร

แต่ก็ใช่จะการันตีว่าการแยกกันอยู่จะใช้ได้ผลเสมอไป สำหรับบางคู่มันอาจทำให้ความสัมพันธ์สั่นคลอนกว่าเดิม ถ้าทั้งสองใช้เวลาของใครของมันมากเกินไปจนเกิดช่องโหว่ขนาดใหญ่ เพราะการที่ไม่ได้อยู่ข้างๆ กันนั่นก็หมายถึง ‘ประสบการณ์ร่วมกัน’ ลดน้อยลงตามไปด้วย เรากับเขาจะไม่ได้กินข้าวมื้อโปรดด้วยกัน ไม่ได้เล่นมุกที่ได้มาจากเพื่อนร่วมงานให้ฟัง ไม่ได้เปิดหนังที่ชอบแล้วพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดหลังดูจบ ยิ่งเฉพาะช่วงแรกของการคบกัน ถ้าหากแยกกันอยู่เลยก็คงจะไม่เวิร์กเท่าไหร่ บางคู่อาจจำเป็นจะต้องเรียนรู้ธรรมชาติของกันและกันผ่านกิจกรรมเหล่านี้ก่อนก็ได้ เพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้นและสามารถแยกย้ายกันไปมีความสุขในแบบฉบับของตัวเองในภายหลัง

การแยกกันอยู่จึงเป็นแค่ไลฟ์สไตล์หรือ ‘ตัวเลือก’ สำหรับบางคู่เท่านั้น ซึ่งมาจากความต้องการของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ความจำเป็น แล้วก็ไม่ใช่ ‘คำตอบ’ ของความสัมพันธ์ทั้งหมดเช่นกัน

 
แม้จะเป็นเรื่องดีที่เรากับคนรักได้มีพื้นที่ส่วนตัวทำในสิ่งที่ชอบเมื่อครั้งยังไม่คบกัน แต่อย่าลืมบาลานซ์ให้เกิด ‘พื้นที่ตรงกลาง’ ร่วมกันบ้าง เพื่อจะได้คงความหวานเอาไว้ และให้ความสัมพันธ์ไม่จืดจางลงไปเสียก่อน

 

 

Source:

The MATTER ‘อยู่ด้วยกันแบบไม่ได้อยู่ด้วยกัน’ เมื่อความสัมพันธ์อาจไม่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา?

https://thematter.co/social/how-living-apart-together-save-your-relationship/100837