น่าเสียดายถ้า HR ไม่ได้บอก มนุษย์ทำงานที่รัก คุณรู้เรื่อง 14 ข้อต่อไปนี้แล้วหรือยัง?

Last updated: 2 มี.ค. 2563  | 

วันที่ 02 มีนาคม 2563 - 14:53 น.


ในบางบทบาทที่ HR หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลถูกมอบหมายให้อยู่ในฐานะตัวแทนของบริษัท จึงเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ต้องสื่อสารกับพนักงานในหลายๆ เรื่อง ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายถ้า HR ไม่ได้บอกบางเรื่องให้กับเราได้รู้ และต่อไปนี้คือ 14 ข้อควรรู้ ทั้งสำหรับคนทำงานรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มมองหางาน ไปจนถึงพนักงานรุ่นเก๋าที่อยู่มาตั้งนาน แต่หารู้ไม่ว่าตัวเองมีสิทธิ์อย่างไรบ้าง


1. Resume ที่น่าสนใจคือเรซูเม่ที่ให้ข้อมูลว่าสามารถทำงานอะไรได้บ้าง และต้องการเงินเดือนเท่าไร คนเป็น HR จะอึดอัดมาก ที่เจอเรซูเม่ที่ไม่ระบุว่าต้องการเงินเดือนเท่าไร ถ้าเขียนมาให้ครบ HR จะตัดสินใจง่ายในการส่งต่อ ส่วนใบสมัครที่จะถูกปัดตกเป็นกลุ่มแรกๆ คือคนที่สะกดผิดเยอะๆ โดยเฉพาะชื่อมหาวิทยาลัยของตัวเอง ซึ่งก็มีไม่น้อยเลย โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ คนที่ไม่รู้ว่าการเขียนอีเมลเชิงธุรกิจด้วยภาษาสุภาพเป็นอย่างไร แนะนำให้ใช้บริการส่งใบสมัครทางเว็บไซต์สมัครงานจะดีกว่าส่งอีเมลตรงหาบริษัท

2. ช่วงเวลาที่มีคนลาออกมากที่สุดคือเดือนมกราคม (หลังจากได้โบนัส) และกรกฎาคม (ไปเริ่มงานที่ใหม่เพื่อจะได้ผ่านทดลองงานก่อนสิ้นปี) ถ้าต้องการจะหางานใหม่ ให้หาในช่วงนั้น จะมีตำแหน่งงานว่างเยอะกว่าปกติ แต่ในปัจจุบันก็มีหลายบริษัทที่ปรับช่วงเวลาการจ่ายโบนัสออกไป แต่ก็ยังจะอยู่ในไตรมาสแรกเป็นส่วนใหญ่ ช่วงนั้นจึงเป็นโอกาสทองในการหางานใหม่นะ

3. ปัจจุบันเว็บไซต์ต่างๆ ที่รับสมัครงานมีฟังก์ชันให้บริษัทบันทึกประวัติว่าผู้สมัครคนไหนที่นัดสัมภาษณ์แล้วเบี้ยวนัด ซึ่งจะแสดงให้บริษัทอื่นๆ ได้เห็นด้วย

4. HR มีวิธีการสืบประวัติผู้สมัครหลายช่องทาง เช่น โทรไปถามที่ทำงานเก่า สืบค้นชื่อจากในอินเทอร์เน็ต หรือเปิดดูในเฟซบุ๊ก บางคนที่เคยโพสต์ด่าเจ้านาย ด่าบริษัท หรือโพสต์อะไรแย่ๆ แรงๆ แล้วเปิดเป็น public อาจจะมีสิทธิ์พลาดโอกาสในการทำงานได้นะ อย่าหาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ พี่ก็เคยใช้วิธีนี้ และเพื่อนๆ ในวงการของพี่ก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ…ขอแค่ไม่มือลั่นไปกด Like ยังไงน้องๆ ก็ไม่รู้ตัวหรอก

5. ถ้าผ่านสัมภาษณ์แล้ว HR โทรมาต่อรองเงินเดือน แต่มันต่ำกว่าอัตราที่เราคิดว่าอยากได้ อย่าลดจนไม่สบายใจ เพราะตอนที่เลือกใบสมัครและสัมภาษณ์จบแล้ว นั่นแสดงว่าอัตราที่เราขอไปเป็นอัตราที่บริษัทพิจารณาแล้ว ที่สำคัญคือถ้าเราประเมินรายได้ที่เราควรจะต้องได้รับแล้วได้น้อยกว่านั้น เราจะไม่รู้สึกเต็มร้อยกับงานนั้น อย่าให้ต้องเสียเวลากันทั้ง 2 ฝ่ายเลย

6. ถ้านายจ้างตกลงจ้างแล้วยกเลิกการจ้าง เราสามารถฟ้องร้องทางแพ่งได้นะ ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาหรือไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร

7. วันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือที่เรียกว่าวันพักร้อน เป็นสิทธิ์ของพนักงาน นายจ้างจะเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้พวกเราทราบล่วงหน้าหรือกำหนดร่วมกัน แต่ถ้าบริษัทฯ ไม่มีประกาศ หรือข้อตกลงว่าพนักงานสามารถลาพักร้อนได้เมื่อไหร่บ้าง ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่พนักงานจะใช้วันพักร้อนได้ตามอิสระ ซึ่งถ้าไม่มีการตกลงเลื่อนสมทบวันพักร้อนที่ใช้ไม่หมดไปปีถัดไป พวกเราสามารถรับคืนเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างต่อวันแทนได้ ในกรณีที่ขอใช้วันพักร้อนไปแล้วหัวหน้าไม่อนุมัติให้หยุด

8. สิ่งที่ทุกคนต้องสนใจคือข้อบังคับในการทำงานที่ทุกบริษัทต้องมี ถ้าไม่มีไปถามหาจาก HR ได้เลย และต้องอ่านด้วยนะ เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรา ต้องถามว่าเก็บไว้ที่ไหน สามารถเข้าไปอ่านได้อย่างไร เพราะในนั้นจะต้องประกอบไปด้วยกฎระเบียบ ข้อบังคับ สิทธิ์ต่างๆ ที่พนักงานควรจะต้องทราบ เพราะมีลูกจ้างจำนวนมากที่ถูกนายจ้างเอาเปรียบด้วยการทำให้รู้ไม่หมด

9. ไม่มีการทดลองงาน การเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป โดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน หมายความว่า การระบุเรื่องทดลองงานมีผลกับเราว่านายจ้างต้องตัดสินใจก่อนที่จะครบ 120 วัน ถ้าเลยจากนั้น การมาบอกว่าเราไม่ผ่านทดลองงาน เราต้องได้รับค่าชดเชย โดยไม่รวมค่าบอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วย

10. การลาออกเป็นสิทธิ์ของลูกจ้าง จะแจ้งด้วยวิธีไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเขียนใบลาออกของบริษัทก็ได้นะ แต่ก็เป็นมารยาทเนอะ อย่าลืมว่าโลกนี้กลมกว่าที่คิด จากกันไปให้คนจดจำในทางที่ดีย่อมจะดีกว่า

11. การแจ้งลาออกน้อยกว่า 30 วัน อาจจะมีผลกับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนของนายจ้างนะ ต้องศึกษาเงื่อนไขกองทุนก่อนลาออกให้ดีเสียก่อน ไม่อย่างนั้นอาจจะชวดเงินสมทบในส่วนของนายจ้างได้ทั้งก้อน

12. ในกรณีที่บริษัทมีประกันชีวิตและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ จะต้องมีแบบฟอร์มให้กรอกชื่อผู้รับสิทธิ์กรณีที่พนักงานเสียชีวิตด้วยนะ เมื่อกรอกไปแล้วและมีการเปลี่ยนแปลงเช่น ผู้รับสิทธิ์เดิมเสียชีวิตไปก่อนแล้ว หรือแต่งงานมีเมีย มีลูกแล้วต้องการเปลี่ยนผู้รับสิทธิ์ก็ควรจะแก้ไขให้ถูกต้องตามที่ต้องการนะ อย่าได้ละเลย

13. ระบบไอทีของบริษัทสามารถมอร์นิเตอร์ได้ตลอดเวลาว่าเราทำอะไรในคอมพิวเตอร์บริษัทบ้าง เข้าเว็บไหน โพสต์อะไร และทั้งหมดสามารถใช้เป็นหลักฐานในการลงโทษพนักงานได้ เนื่องจากว่าคอมพิวเตอร์นับเป็นทรัพย์สินของนายจ้างที่ลูกจ้างได้รับเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน และผลที่เกิดจากการทำงานตามค่าจ้างนั้นย่อมเป็นของนายจ้าง เขาจึงสามารถทำอะไรกับคอมพิวเตอร์ของเราก็ได้…พวกกรุ๊ปไลน์ที่ตั้งเอาไว้เมาท์เจ้านายนี่พึงระวังไว้ให้ดีกันด้วยนะ 

14. นายจ้างต้องออกหนังสือรับรองการทำงาน หรือการผ่านงานให้ลูกจ้างในทุกกรณีที่มีการขอ และห้ามระบุข้อความที่เป็นลบกับลูกจ้างลงในหนังสือรับรองฯ ด้วย

และอีกสิ่งที่สำคัญอยากจะทิ้งท้ายเอาไว้ในตอนนี้ก็คือ อยากจะให้ทุกคนเลือกทำงานในองค์กรที่มีความมั่นคงและให้โอกาสในการพัฒนาตัวเอง อย่าเลือกเพียงเพราะแค่เงินเดือนเพียงอย่างเดียว สวัสดิการและวัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ การติดตามข่าวสารต่างๆ ช่วยในการตัดสินใจได้ คนที่พร้อมกว่ามีโอกาสก่อน ทั้งสำหรับการหางานใหม่ และการเติบโตก้าวหน้าในองค์กร



Source:  

the Standard

น่าเสียดายถ้า HR ไม่ได้บอก มนุษย์ทำงานที่รัก คุณรู้เรื่อง 14 ข้อต่อไปนี้แล้วหรือยัง?

https://thestandard.co/14-things-recruiters-wont-tell-you/?fbclid=IwAR19zO4I_cUikCHda7xGmvJYIGCkvebMnaTv-5wegv3oEsihh75MHRhDFJg