พอกันทีถ้าต้องทำงานไปแบบใจเฉาๆ ปลุกไฟในตัวเราให้พร้อมทำงานกันเถอะ

Last updated: 6 เม.ย 2563  | 

วันที่ 6 เมษายน 2563 - 13:55 น.

 

การมีแรงจูงใจในตัวเองหรือ Self-Motivation นั้น ไม่ใช่จะมีกันทุกคน แล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถรักษามันไว้ไปตลอดเส้นทางชีวิตการทำงานของคนหนึ่ง ฟองซ่าของโซดามีวันหมดไปฉันใด ภาวะหมดไฟล้วนมาเยือนทุกคนได้ฉันนั้น บางคนยืนอยู่จุดสูงสุดของพีระมิด รู้ทุกอย่างทะลุปรุโปร่ง หมดความท้าทาย หมดเป้าหมาย หมดไฟในการทำงาน การเปลี่ยนงานอาจเป็นตัวเลือกสุดท้าย

แต่ถ้าวัยและสายงานไม่อำนวยเช่นนั้น การหาแรงจูงใจใหม่ๆ เพื่อปลุกไฟให้กลับมาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกเคว้งคว้างคล้ายคนกำลังจมน้ำในคลองที่ตื้นแสนตื้นมาบั่นทอนจิตใจและคุณค่าในตัวเอง

บทความนี้ขอหยิบยกวิธีจุดไฟในการทำงานให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง แนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมศาสตร์และการตลาดที่ทำวิจัยศึกษาการสร้างแรงจูงใจ ศาสตราจารย์อายีเลท ฟิชบัค (Ayelet Fishbach) แห่ง the University of Chicago’s Booth School of Business มาเล่าสู่กันฟัง



1.ระบุเป้าหมายให้เจาะจง

เช่น ตั้งเป้ายอดขายให้ชัดๆไปเลยว่าจะเพิ่มลูกค้าให้มากขึ้นเป็น 10 เจ้าต่อเดือนแทนที่จะตั้งเป้าว่ายอดต้องเพิ่มจากเดิมแบบหลักลอย เมื่อระบุเป้าเจาะจงชัดเจนอย่างนี้จะทำให้เราโฟกัสไปที่การบรรลุเป้าหมายเพียงอย่างเดียว

นอกจากเป้าหมายชัดเจน แรงจูงใจจากตัวเองที่เป็นการได้ทำตามฝัน ได้ทำสิ่งที่รัก อาจนำไปหาเป้าหมายได้ง่ายกว่าแรงจูงใจภายนอกเช่น ภาวะจำยอมตามหน้าที่ ความคาดหวังจากที่บ้าน ความเกรงใจ หรือเงินค่าจ้างก็ตามที แต่ถึงอย่างนั้น เอาเข้าจริงหลายคนอาจค้านสุดตัวว่า ฉันเป็นคนประเภทเงินซื้อไม่ได้ ถ้าไม่ ‘มากพอ’ (ซึ่งแปลว่า เงินซื้อฉันได้ถ้ามากพอ) ทุกวันนี้เลยต้องทนทำงานที่เบื่อหน่ายมาเป็นสิบปีเพราะโบนัสที่บริษัทจ่ายตอนสิ้นปีมันยากจะปฏิเสธจริงๆ

จุดนี้อาจารย์ฟิชบัคอธิบายว่า เป็นเรื่องสุดแสนจะธรรมดาที่แรงจูงใจภายนอกที่คุ้มค่าบางอย่างสามารถมีอิทธิพลเหนือความต้องการที่แท้จริงของเราได้ ความฝันที่จะเป็นเจ้าของคอฟฟี่ช็อปเล็กๆ อาจถูกแรงจูงใจในรูปของความมั่นคง ความสุขสบาย ค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ ค่าเทอมลูก ฝังกลบซะมิด ดังนั้นจะว่าไปแล้วพื้นที่ของแรงจูงใจภายในที่เป็นความสุขจากการเป็นตัวของตัวเองและเห็นคุณค่าของมัน กับฝั่งที่เป็นแรงจูงใจภายนอกซึ่งสนองตอบความต้องการทางสังคม อีโก้ ก็เลยแทบกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ บางทีอาจไม่สำคัญเท่าไหร่ว่าแรงจูงใจมาจากตัวเราเองหรือภายนอก ค้นหาเป้าหมายให้ได้คือสิ่งสำคัญกว่า คำถามที่ต้องหมั่นตั้งกับตัวเองเสมอคือ “เรากำลังทำสิ่งที่ทำอยู่นี้เพื่ออะไร และเพื่อใคร”


 

2. หาแรงจูงใจที่จะนำไปสู่เป้าหมายให้ดี

ไม่ผิดเลย ถ้าแรงจูงใจจะเป็นเงินเดือน ตำแหน่ง เกียรติยศ และความมั่นคงในชีวิตที่มันคุ้มค่าพอ ในเมื่อสู้อุตส่าห์ลงทุนฝึกฝนร่ำเรียนมาเพื่อรับผิดชอบงานความเสี่ยงสูง หรืออาชีพเฉพาะทางที่อาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษ อย่างแพทย์ วิศวกรเคมี หรือนักบิน มาลองปฏิบัติตามคำแนะนำที่อาจารย์ฟิชบัคบอกว่านอกจากจะช่วยให้เราสร้างแรงจูงใจให้ชีวิตมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นแล้วยังทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นด้วย

ข้อแรก คือ อย่าเอาแต่ไล่ตามสิ่งจูงใจจนทำงานแค่ให้เสร็จเร็วที่สุด มากที่สุดจนละเลยประสิทธิภาพ เซลล์ที่ตั้งหน้าตั้งตาขายเอายอดจำนวนลูกค้าให้ถึงเป้าแต่ไม่สนความพึงพอใจด้านบริการก็อาจต้องเสียลูกค้าไปอยู่ดี

ข้อสอง อย่าสร้างแรงจูงใจที่หักล้างเป้าหมายที่วางไว้ เช่น ถ้าให้รางวัลตัวเองที่ลดน้ำหนักสำเร็จเป็นไก่ทอด BonChon เซ็ทใหญ่กับบิงซู After You ก็เท่ากับว่าที่เพียรพยายามออกกำลังกายและคุมอาหารมาเต็มที่กลับสูญเปล่าเอาตอนท้ายสุด

ข้อสาม หาแรงจูงใจที่ท้าทายแต่เป็นไปได้ เช่น ถ้าเป้าหมายอยู่ที่การออมเงินให้ได้หนึ่งล้านภายในอายุสามสิบ รางวัลใหญ่ของลอตเตอรี่อาจยั่วใจกว่าการซื้อสลากออมสินหรือลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลก็จริง แต่โอกาสถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่นั้นเป็นไปได้ยากกว่ามาก

ข้อสี่ หาแรงจูงใจที่ทำให้เราไม่คิดล้มเลิกกลางคัน เช่น วางเดิมพันกับภารรยาว่าถ้าเลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ จะอดหอมแก้มลูกไปทั้งปี



3. หมั่นเช็คไฟในตัวเอง

เมื่อครั้งแรกเริ่มยังไฟแรง แต่อีกหลายปีต่อมาไฟริบหรี่ใกล้ดับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรู้สึกอิ่มตัวว่าไม่สามารถเรียนรู้หรือพัฒนาตัวเองไปได้ไกลกว่านี้ อาจารย์ฟิชบัคแนะว่า

ข้อหนึ่ง แบ่งเป้าหมายใหญ่ออกเป็นเป้าหมายย่อย เช่น จากตั้งเป้ายอดขายรายปี แบ่งย่อยเป็นรายสัปดาห์ว่าต้องทำยอดให้ได้เท่าไหร่ ความสำเร็จจากเป้าหมายย่อยจะเป็นกำลังใจให้ก้าวสู่เป้าหมายต่อไปจนบรรลุเป้าหมายในที่สุด

ข้อสอง เช็คตัวเองเสมอว่าเราเข้าใกล้เป้าหมายแค่ไหน เหมือนการสะสมแต้มบัตรเครดิตไปแลกซื้อของที่หมายตาไว้ เราสะสมได้แล้วกี่แต้มและเหลืออีกกี่แต้มจะครบเป้า

ข้อสาม หาแรงบันดาลใจหรือแบบอย่างจากไอดอลที่เรานับถือหรือคนเก่งที่มีทัศนคติดี มองคนเก่งรอบตัวแล้วสังเกต เรียนรู้จากเขาว่า เขาบริหารจัดการเวลาและตัวเองอย่างไรจึงยังชิวกับงานกองพะเนินอยู่ได้ เขาวางเป้าหมายให้ตนเองอย่างไรและทำไมถึงมีไฟกับมันได้ขนาดนั้น

ข้อสี่ ให้คำแนะนำกับผู้อื่นดูบ้าง วิธีนี้อาจารย์ฟิชบัคชี้ว่าช่วยให้คนหมดไฟผ่านพ้นอาการตีบตันในการทำงานและกอบกู้ความมั่นใจในตัวเองได้ดีที่สุด เมื่อให้คำแนะนำผู้อื่น ตัวเราเองก็ได้ใคร่ครวญปัญหาที่เจอในมุมมองของคนนอก เราอาจมองเห็นทางออกใหม่ และวางแผนอนาคตให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

แรงจูงใจในการทำงานคือเชื้อเพลิงที่ช่วยหล่อเลี้ยงไฟในการทำงานให้ยังมีพลังแข่งขันต่อสู้กับความยากลำบาก อุปสรรค หรือแม้แต่ความเบื่อหน่ายเพื่อเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อไปได้ การรักษาแรงจูงใจไว้ให้ได้จะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาตกต่ำยามที่ความเหนื่อยล้าเข้ามาบดบังเป้าหมายที่แท้จริง

และด้วยหลักยึดจากเทคนิคข้างต้นนี้ เราจะไม่ปล่อยตัวให้จมอยู่กับหนทางตัน แต่จะสามารถหาเชื้อไฟใหม่ๆ ผลักดันตัวเองให้ก้าวย่างอย่างมั่นคงไปสู่จุดที่มุ่งหวังในทางใดทางหนึ่งตราบใดที่ชีวิตยังไม่หมดลมหายใจ

 

 

 

Source:

thepotential

พอกันทีถ้าต้องทำงานไปแบบใจเฉาๆ ปลุกไฟในตัวเราให้พร้อมทำงานกันเถอะ

https://thepotential.org/2019/08/06/self-motivation-to-work/