แนะนำ 6 วิธีสุดเบสิก จัดการความโกรธโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

Last updated: 14 ส.ค. 2563  | 

วันที่ 14 สิงหาคม 2563 - 14:18 น.


เคยเป็นกันไหม อยู่ดีๆ ก็รู้สึกโกรธขึ้นมา อาจจะเพราะด้วยเรื่องงาน เรื่องความสัมพันธ์ หรือเรื่องอื่นๆ ที่เราไม่อาจจะควบคุมได้

มนุษย์ทุกคนย่อมมีความโกรธ เมื่อเผชิญหน้ากับสภาวะกดดันหรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงพอใจ ซึ่งความโกรธเป็นอารมณ์เชิงลบที่ถ้าหากควบคุมไม่ได้ ก็อาจสร้างความเสียหาย ความวุ่นวาย ให้กับชีวิตตัวเองและคนรอบข้าง

ด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบขณะที่ไฟในอกกำลังพลุ่งพล่าน อาจทำให้หลายๆ ครั้งเรากลับมาเสียใจกับผลลัพธ์ในภายหลัง ฉะนั้น การหมั่นเรียนรู้ความโกรธของตัวเอง หรือมี self-awareness กับความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะทำให้เรามี self-control สามารถควบคุมอารมณ์เหล่านั้นให้อยู่ในขอบเขตได้

ซึ่งการควบคุมและจัดการอารมณ์โกรธไม่ใช่เรื่องยาก หากแต่ทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

1. ออกกำลังกาย

กล้ามเนื้อของเราจะเกร็งมากขึ้นเวลาที่รู้สึกโกรธหรือเครียด ซึ่งวิธีออกกำลังกายเป็นวิธีเบสิกที่ใช้ได้เสมอ ไม่ว่าจะเดิน วิ่ง หรือเล่นกีฬา เมื่อร่างกายได้ขยับเขยื้อน จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ทำให้เรารู้สึกสดชื่น ตัวเบา และลดความรู้สึกเชิงลบในร่างกายได้เป็นอย่างดี

2. ฝึกฝนการหายใจ

บางครั้งอาการโกรธ เครียด หรือวิตกกังวลเกิดขึ้นจากการที่เราหายใจสั้นเกินไป เพราะอยู่ภายใต้สภาวะที่กดดัน ดังนั้น deep breathe หรือการหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ จะช่วยให้อากาศเข้าสู่ปวดมากขึ้น เพื่อเพิ่มออกซิเจนในเลือด ทำให้เรามีสติและใจเย็นลง

3. นับ 1-100

เวลาโกรธใครจะมีกะจิตกะใจมานับเลขกันล่ะเนี่ย แต่เชื่อเถอะว่าได้ผล เพราะขณะที่เรากำลังนับไปเรื่อยๆ จิตใจเราได้เปลี่ยนโฟกัสจากเรื่องวุ่นๆ มาที่ตัวเลขแทน ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้รวบรวมความคิดและสติก่อนที่จะไปทำอย่างอื่นต่อ และกว่าจะนับถึง 100 ความเดือดดานในใจก็อาจจะสวนทาง ลดลงจนเหลือ 0 แล้วก็ได้

4. พูดคุยกับคนอื่น

บางครั้งเราอาจจะติดอยู่กับความคิดของตัวเองหรือแบกเรื่องแย่ๆ ไว้บนบ่ามากเกินไป จึงไม่สามารถหลุดพ้นจากห้วงความโกรธเหล่านั้นได้ ลองหาใครสักคนที่ไว้ใจหรือเป็นผู้ฟังที่ดีแล้วระบายกับเขาดู อาจช่วยปลดปล่อยความรู้สึกแย่ๆ ในจิตใจให้เบาลงได้บ้าง ดีไม่ดี เขาอาจช่วยสะท้อนความคิดให้เรามีสติมากขึ้นด้วย

5. เขียนใส่กระดาษ

การเขียนระบายเป็นวิธีย้ายความรู้สึกนึกคิดในจิตใจมาไว้บนกระดาษ ไม่ว่าจะเขียนบันทึกประจำวัน เขียนเนื้อเพลง เขียนกลอน หรือเขียนบ่นสัพเพเหระ ก็ถือว่าเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจที่มีอยู่ได้ทั้งนั้น แม้จะเป็นวิธีง่ายๆ แต่ก็ทำให้เราได้ตระหนักถึงที่มาที่ไปของความโกรธ และวิธีรับมือกับมันอย่างใจเย็นมากขึ้น

6. เดินออกมาก่อน

การหมกมุ่นอยู่กับปัญหาตรงหน้าไม่อาจทำให้ความครุกรุ่นในใจหายไป และการตัดสินใจทำอะไรทันทีอาจส่งผลให้เรื่องแย่ลงกว่าเดิมเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ฉะนั้น เดินออกมาหาอย่างอื่นทำ เช่น ดูทีวี เดินเล่น หรือฟังเพลง จะช่วยให้เรากลับมาแก้ไขปัญหาได้อย่างมีสติมากขึ้น




SOURCE :

The Matter

https://www.facebook.com/thematterco/photos/a.1735876059961122/2662203607328358/